ข่าว

ขยายผลศาสตร์พระราชาโคกหนองนาโมเดลสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยายผลศาสตร์พระราชาโคกหนองนาโมเดลสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

 

            กระทรวงเกษตรฯจับมือกรมชลประทาน ขยายผล “ศาสตร์พระราชา” สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดมพลลงมือทำแปลงสาธิต การขุดคลองไส้ไก่ การทำฝาย และการทำคันนาทองคำ ในพื้นที่ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หวังใช้เป็นตัวเองให้เกษตรกรนำไปต่อยอดปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง

ขยายผลศาสตร์พระราชาโคกหนองนาโมเดลสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

 


             นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการออกแบบพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา โคก หนองนา โมเดล รุ่นที่ 2 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรีว่า  การอบรมเชิงปฏิบัติดังกล่าว เป็นการหาแนวทางในการนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ เพื่อปรับพื้นที่การเกษตรตามแบบแนวทางทฤษฎีใหม่  โดยเป็นการให้ความรู้ด้านการจัดการน้ำให้ผู้ร่วมอบรมได้ฝึกคิดและคำนวณปริมาณน้ำฝนให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตน 

 

ขยายผลศาสตร์พระราชาโคกหนองนาโมเดลสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
               นอกจากนี้ ยังมีทีมวิศวกรและสถาปัตยกรรมของกรมชลประทาน ช่วยออกแบบแปลงเกษตรกรรมตามแบบ โคก หนอง นา ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม รวมทั้งจัดกิจกรรม “เอามือสามัคคี เรียนรู้การจัดการพื้นที่เกษตรกรรม”  ซึ่งจะเป็นการสร้างความสามัคคีในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน ด้วยการลงมือทำแปลงสาธิต การขุดคลองไส้ไก่ การทำฝาย และการทำคันนาทองคำ ในพื้นที่สาธิตของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อนำไปต่อยอดปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา โคก หนองนา โมเดล นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำปราจีนบุรี(ห้วยโสม) ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งในส่วนของกรมชลประทานรับผิดชอบในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี (ห้วยโสมง) และลุ่มน้ำป่าสัก 
            ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการดำเนินโครงการฯ จนประสบความสำเร็จในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี (ห้วยโสมง) จังหวัดปราจีนบุรีมาแล้ว และนำมาต่อยอดในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสร้างตัวอย่าง “โคก หนองนา โมเดล” ไว้ในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และเข้าใจในศาสตร์พระราชา และสามารถร่วมกันพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
                รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวด้วยว่า โครงการโคก หนองนา โมเดล เป็นแนวคิดและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพชีวิตของคนไทย ที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นรากฐานของสังคม ซึ่งได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตรผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านได้อย่างสอดคล้อง   โดยนำมาปรับเป็นคำพูดที่ง่ายต่อการเข้าใจแล้วนำไปสอนและถ่ายทอดแก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อพื้นฐานชีวิตมีความมั่นคงแล้ว ชีวิตคนไทยจึงจะมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป
                 สำหรับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้   นายพิเชษฐ์ ศุภฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม  นายศุภณัฐ ปริยชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านวางแผน) และ นายศุภชัย มโนกาล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ได้ร่วมลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการออกแบบพัฒนาระบบกสิกรรมด้วยศาสตร์พระราชา โคก หนองนา โมเดล รุ่นที่ 2 ดังกล่าวด้วย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ