ข่าว

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"บูรณาการเตรียมรับมือก่อนถึงฤดูน้ำหลาก

 

           การลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เพื่อวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างของเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” และคณะ ถือเป็นครั้งแรกในการติดตามและประเมินผลการบูรณาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ผ่านโครงการสำคัญๆ อย่างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560  แผนปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ในปีงบประมาณ 2561-2564 และแก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง เป็นต้น

 

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"

 

 

         ขณะเดียวกันเป็นการติดตามผลดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 รับทราบแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 ของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกรรมการที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำให้ทันก่อนการรับน้ำหลากในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าด้วย 

         ดร.สมเกียรติ เผยว่า กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ โดยในช่วงฤดูฝนปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินการนำร่องปรับปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ประมาณ 1.15 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ให้เร็วกว่าปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลผลิตได้รับความเสียหายจากฤดูน้ำหลาก และให้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือเป็นแก้มลิงธรรมชาติในการหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงปลายฤดูฝน 

        “แม้ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาจะประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ แต่ก็ยังประสบปัญหาในบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ถนนที่ใช้สัญจร การนำน้ำเข้าทุ่งและระบายออกจากทุ่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้น สทนช.จึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกันวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำพร้อมกับแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งในฤดูน้ำหลากปี 2561 นี้”

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"

       เลขาธิการสทนช.กล่าวต่อไปว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่งดังกล่าว มีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล พร้อมสร้างบันไดปลา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทย และเพิ่มศักยภาพในการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมจำนวน 229,138 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เมื่อแล้วเสร็จจะมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดถึง 500 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 ใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 266.7 ล้านบาท ดำเนินการโดยกรมชลประทาน 

         นอกจากนี้ยังมีแผนที่ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ในปีงบประมาณ 2561–2564 เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำคลองระบายน้ำใหญ่สุพรรณและอาคารประกอบ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำวัดคงษา การก่อสร้างท่อระบายน้ำปากคลองระบายน้ำใหญ่แม่น้ำน้อย การก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเจ๊ก การปรับปรุงติดตั้งเครื่องสูบน้ำและตู้ควบคุมประตูระบายน้ำกุฎี การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองวัดใบบัว การปรับปรุงประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองตานึ่ง การปรับปรุงประตูระบายน้ำปลายคลองผักไห่-เจ้าเจ็ด เป็นต้น

         ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยการใช้สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และกำลังก่อสร้าง เช่นในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้วางแผนพร่องน้ำออกจากแก้มลิง 2 แห่ง เพื่อรอรับน้ำหลากที่จะไหลลงท่วมพื้นที่เกาะในตัวเมือง คือ แก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง สามารถรองรับน้ำได้ 1.2 ล้านลบ.ม. และแก้มลิงทุ่งภูเขาทอง รองรับน้ำได้ 2.0 ล้านลบ.ม. พร้อมใช้ประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ในการบริหารจัดการน้ำ คือ ประตูระบายน้ำหันตรา ประตูระบายน้ำข้าวเม่า และประตูระบายน้ำกระมัง

         ทั้งนี้ยังใช้มาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง เช่น การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในการหน่วงน้ำ การวางแผนจัดจราจรทางน้ำเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

         อย่างไรก็ตาม ด้วยกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและฐานการผลิตของประเทศ การบริหารจัดการน้ำจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด สทนช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลักคือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 99.12 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 47.10 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 37.96 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เมืองและอื่นๆ โดยจะศึกษาเพื่อประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้ 

 

 ชาวบ้านผักไห่วอนเห็นใจคนอยู่ท้ายน้ำ  

 

สทนช.ตรวจแนวรับน้ำ"12ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง"

             อภิญญา เอี่ยมอำภา นายอำเภอผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยาเผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงสิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าว่าเท่าที่คุยกับหน่วยงาน ในพื้นที่ว่าขอให้กรมชลประทานต้องบอกข้อมูลข้อเท็จจริงให้เรา  อย่าปกปิด เพราะถ้าปกปิดแนวทางป้องกันก็จะไม่ตรงความต้องการของประชาชน เนื่องจากทางอำเภอจะได้ประสานกับประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการรับมือและแนวทางการป้องกันรับน้ำเข้าทุ่งในทุกๆ ปีอยู่แล้ว 

           “การเตรียมความพร้อมในช่วงน้ำท่วมก็จะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน อย่างทหาร ตำรวจจะช่วยเหลืออำนวยการความสะดวกด้านต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดูแลด้านสาธารณสุข ช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ตำรวจทางหลวงจะดูแลด้านการจราจร  หมู่บ้านใดตำบลใดที่น้ำยังคงท่วมขังก็ยังท่วมขังอยู่เช่นเดิมประมาณ 4-5 เดือน เช่นหมู่บ้านท่าดินแดง เป็นต้น”

          เช่นเดียวกับ สุรินทร์ ชั้นกุศล กำนันตำบลลำตะเคียน  อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขคือต้องเห็นใจชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำด้วย ช่วงที่น้ำเหนือมากก็ใช้ประตูระบายน่้ำซึ่งมี 17 ประตูปิดกั้นไว้ก่อนเพื่อชะลอการไหลของน้ำ เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านที่อยู่ท้ายจะรับกรรมไป ในขณะที่เวลาน้ำมีไม่เพียงพอผู้ที่อยู่ต้นน้ำจะได้รับอานิงสงส์ก่อน ส่วนท้ายน้ำก็ไม่มีน้ำใช้เช่นเคย

          “การผันน้ำในเส้นทางหลัก เวลาน้ำเยอะเขาก็ปล่อยมาที่เราอย่างเดียว ที่จริงต้องปิดบ้าง ประตูมี 17 ประตู เราอยู่ในที่ลุ่ม เวลาน้ำไม่มีเขาก็เก็บไว้ใช้ ไม่ถึงเรา พอฝนตกหนักเขาก็ปล่อยมาทางนี้ก็ท่วม ข้าวก็เสียหาย เวลาคุณอยากได้คุณก็เอาไว้ เวลาคุณไม่ต้องการก็ปล่อยลงมา นาเป็นแสนไร่นะที่ได้รับความเดือดร้อน” กำนันตำบลตะเคียนกล่าววิงวอน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ