ข่าว

อำลาตลาดกลางสินค้าเกษตรย่างกุ้งสู่ มัณฑะเลย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ  [email protected]

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

             ในวันนี้ยังเป็นควันหลงของการเดินสำรวจตลาดสินค้าเกษตรในเมืองย่างกุ้งกันอยู่ครับ เพราะตลาดแห่งนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่และสินค้าเกษตรที่หลากหลาย ในครั้งที่แล้วเราพูดถึงเรื่องผักผลไม้ไปค่อนข้างเยอะเนื่องจากประมาณ 70% ในตลาดเป็นสินค้าประเภทนี้เป็นหลัก นอกเหนือจากนี้เราพยายามมองหาสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหารเพื่อการบริโภค ซึ่งก็ได้เจอการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและการถนอมอาหารในลักษณะของเต้าหู้ แหนม ปลาส้ม ผักผลไม้ดองและเชื่อม รวมถึงปลาแห้งต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ใช้บริโภคประจำวันในครัวเรือนและมีราคาที่ไม่แพงนัก 

อำลาตลาดกลางสินค้าเกษตรย่างกุ้งสู่ มัณฑะเลย์

 

             กรรมวิธีก็เป็นการแปรรูปอาหารที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแต่อย่างใด มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เราอยากทดลองชิมเป็นประสบการณ์แต่ทางไกด์ที่พาเราเดินตลาดบอกว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกอย่างที่เป็นการเสี่ยง ถ้าฟังดูแล้วก็ทำให้มองต่อไปได้ว่าเรื่องความปลอดภัยของอาหารในเมียนมาร์เองก็ยังมีหลายมาตรฐานเช่นกัน ถ้าลองมองย้อนไปในลาว กัมพูชา และเวียดนาม เกี่ยวกับเรื่องของอาหารแปรรูปก็ยังเป็นในลักษณะนี้อยู่เช่นกัน 

           ประเด็นนี้คงเป็นอีกเรื่องที่ทุกประเทศในกลุ่ม CLMV คงต้องให้ความสำคัญและร่วมกันพัฒนาปรับปรุงเรื่องของมาตรฐานและความปลอดภัยของอาหารร่วมกัน สินค้าเกษตรอีกประเภทหนึ่งที่เป็นสีสันก็คือไม้ดอกไม้ประดับ แต่สำหรับในตลาดแห่งนี้ดอกไม้ที่เห็นเป็นหลักก็คือดอกกุหลาบ ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากและก็มีขนาดใหญ่ดูจะเป็นที่ต้องการของตลาดค่อนข้างมาก นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นพวกดอกเบญจมาศและปทุมมาหลากสี 

          ซึ่งเมื่อดูจากขนาดดอกและก้านของดอกไม้เหล่านี้แล้วก็พอจะบอกเบื้องต้นได้ว่าค่อนข้างใหญ่และค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนราคาถ้าเทียบกับตลาดไทยก็พอๆ กัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายแบบเหมายกช่อในลักษณะของการขายส่ง แต่ถ้านำไปขายต่อก็คงราคาสูงกว่านี้อีกพอควร วัตถุของการใช้ส่วนใหญ่ก็ใช้ตกแต่งสถานที่ในงานพิธีต่างๆ ในด้านการขนส่งสินค้าเกษตรเท่าที่เราพบเห็นก็จะมีรูปแบบวิธีการขนส่งที่หลากหลายวิธีการ ตั้งแต่รถบรรทุกหกล้อและสี่ล้อ รถตู้ รถสามล้อ รวมถึงรถเข็นและใช้คนขนส่งตามปริมาณและชนิดของสินค้า 

 

อำลาตลาดกลางสินค้าเกษตรย่างกุ้งสู่ มัณฑะเลย์

         แต่ถ้าดูจากการจัดการในการขนส่งบริเวณรอบๆ ตลาดแล้วก็ถือว่ายังมีความเป็นระบบระเบียบในการจัดคิวรถ การส่งสินค้าเข้าตลาดและการรับสินค้าเพื่อกระจายส่งต่อไปยังตลาดย่อยในที่ต่างๆ เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยในเรื่องสัพเพเหระในการค้าขายสินค้าเกษตร ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดสินค้าเกษตรเมียนมาร์ก็เหมือนตลาดในเมืองไทยคือราคาสินค้าเกษตรก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามช่วงฤดูกาล เป็นไปตามปริมาณและคุณภาพสินค้า รวมถึงความต้องการของตลาดและผู้บริโภคผู้บริโภคในขณะนั้นด้วย          

           ส่วนพ่อค้าแม่ค้าเองก็ยังมีความสุขกับการประกอบอาชีพแบบนี้เพราะเป็นความคุ้นชินและทำกันมานาน และถึงอย่างไรตามสินค้าเกษตรก็ยังมีให้ขายได้ตลอดทั้งปีปรับเปลี่ยนการขายกันไปตามฤดูกาลได้ตลอด นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าเองก็มองว่าเมียนมาร์เองมีพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างผลผลิตได้หลากหลายตามความเหมาะสมจากหลายพื้นที่และผลผลิตที่ได้ก็มีหลายเกรดหลายระดับ ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ตามความสามารถในการจับจ่ายอันเป็นผลดีต่อผู้ขายในอีกทางหนึ่ง 

ทั้งนี้ยังให้คำแนะนำกับทีมเราว่าควรไปดูพื้นที่การผลิตและตลาดสินค้าเกษตรแถวพุกาม มัณฑะเลย์ สะกาย อันเป็นพื้นที่การผลิตข้าว ผัก ผลไม้ แหล่งใหญ่ของเมียนมาร์อีกพื้นที่หนึ่ง สำหรับในครั้งหน้าเราจะเดินทางไปกรุงเนปิดอว์เพื่อพบกับนักวิชาการของ Yezin Agricultural University และลงพื้นที่การเกษตรเพื่อหาเรื่องราวดีๆ มาเล่าให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ