ข่าว

"ปิดอ่าวไทย"รูปตัว ก คุมพื้นที่ 8 จังหวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ปี 61 คุมพื้นที่ 8 จังหวัด บังคับใช้กฎหมายใหม่ อนุญาตเฉพาะเครื่องมือที่ให้ทำประมงตามประกาศเท่านั้น

14 มิ.ย. 2561 ที่ท่าเทียบเรือสำนักงานสะพานปลาสมุทรปราการ ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทราการ นายนิวัติ  สุธีมีชัยกุล  ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯเป็นประธานในพิธีประกาศปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2561  

ทั้งนี้เพื่อบังคับใช้กฎหมายใหม่กำหนดให้ใช้เครื่องมือที่สามารถทำการประมงได้ในระยะเวลาการปิดอ่าวฯ 2 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคมของทุกปี และตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายนของทุกปี ครอบคลุมบางส่วนของพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี 

 

​นายอรุณชัย   พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พิธีวันนี้ ได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมประกาศปิดอ่าวไทยรูปตัว ก และปล่อยขบวนเรือ จำนวน 6 ลำ ออกปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมายตลอดเขตพื้นที่ปิดอ่าวฯ ตามประกาศกรมประมงฉบับใหม่ ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2561  ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่และระยะเวลาการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ในพื้นที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมดังเช่นปีที่ผ่านมา ดังนี้ 

 

ระยะเวลาและพื้นที่ที่ห้ามทำการประมง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

 

ช่วงที่ 1 : ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

 

ช่วงที่ 2 : ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร  กรุงเทพมหานคร  สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

สำหรับเครื่องมือและวิธีทำการประมงที่สามารถใช้ทำการประมงได้ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่

 

​1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้ในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง

 

​2. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ให้ใช้เครื่องมืออวนที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติดตา หรือวีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน 

 

​3. เครื่องมืออวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง​อวนหมึก

 

​4. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

 

​5. กรณีการใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้

 

​6. กรณีการใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงเกินกว่า 300 ลูก ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

 

​7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด

 

​8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง

 

​9. เครื่องมือคราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย

 

​10. เครื่องมืออวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย

 

​11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก

 

​12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

 

​13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า โดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงบางประเภทที่ถูกกำหนดเป็นประมงพาณิชย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ และต้องมิใช่การใช้เครื่องมือทำการประมงอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) รวมทั้งเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ