ข่าว

116 ปีกรมชล มุ่งแก้ปัญหาน้ำ"ภาคเกษตร"ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 รัฐมุ่งแก้ปัญหาน้ำ"ภาคเกษตร"ยั่งยืน เร่งขยายผลนวัตกรรม"ศูนย์น้ำไฮเทค"

 
 
          “ปีนี้กรมชลฯ มีอายุ 116 ปี พื้นที่ในระบบชลประทานของประเทศมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เอง ถ้าเป็นแบบนี้อีกกี่ร้อยปีประเทศไทยจะมีพื้นที่ระบบชลประทาน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประเทศไทยจะต้องมีระบบชลประทานครบทุกพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์”
          วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปีที่ 6 ณ สวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าไทย ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่าน้ำมีความสำคัญที่สุดในภาคการเกษตร การพัฒนาระบบชลประทานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ(ด้านทรัพยากรน้ำ) 20 ปี
ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561  กรมชลประทานมีอายุครบ 116 ปี ว่ากันว่า เป็นปีที่การทำงานประสบผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผลงานตามศาสตร์พระราชา บริหารจัดการน้ำที่ผ่านวิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง บูรณาการสร้างบางระกำโมเดลที่สามารถขยายผลแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำอื่นๆ การพัฒนา SWOC เป็นศูนย์บัญชาการน้ำไฮเทค พร้อมทั้งวางแผนไปสร้างในส่วนภูมิภาคอีก 17 แห่ง การปรับระบบโทรมาตรใหม่ทั้งประเทศให้มีประสิทธิภาพ การเร่งพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า การเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำ เป็นต้น

 


ขณะที่ ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นโมเดลที่กรมชลประทานมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง โดยในปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่โครงการทุ่งบางระกำจาก 2.6 แสนไร่ เป็น 3.8 แสนไร่ และขยายผลไปดำเนินการในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และพื้นที่อื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีกด้วย ในส่วนของการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ ช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.สกลนคร หรือ จ.เพชรบุรี กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ็กโฮเสริมคันตลิ่ง ทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเพียงแค่ 2 วัน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ได้มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า จึงสามารถลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้
“ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในปี 2560 ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูลกรมชลประทาน และเป็นศูนย์กลางติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ รวบรวมวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติต่างๆ ทำให้สามารถสั่งการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ”
อธิบดีกรมชลประทาน เผยต่อว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะขยายผลศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค รวมทั้งสร้างห้องปฏิบัติการด้านส่งน้ำระดับโครงการชลประทานทุกโครงการ คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 จะสามารถดำเนินการได้ 172 โครงการ
นอกจากนี้ ยังจะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำและการพยากรณ์น้ำท่า ด้วยการทบทวนระบบโทรมาตรทั้งหมดของกรมชลประทานทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยในปี 2561 จะดำเนินการใน 4 ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ เช่น เจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 21 ลุ่มน้ำจะดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2564 รวมทั้งพัฒนาระบบเมคคาทรอนิกส์ ช่วยในการบริหารงานส่งน้ำและการควบคุมอาคารบังคับน้ำชลประทาน นำร่องใช้ใน 5 พื้นที่ในภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออกและภาคใต้ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแอพพลิเคชั่นในการทำงานต่างๆ อีกด้วย
ทองเปลว ระบุว่า ปัจจุบัน SWOC มีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาในรูปแบบแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมลูและรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ ซึ่งมี 4 แอพพลิเคชั่น คือ 1.FLOWTO เป็นเครื่องมือสำหรับรายงาน บันทึกและติดตามเหตุการณ์ต่างๆ แสดงผลในรูปแบบแผนที่สามารถใช้งานได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและเว็บบราวเซอร์ 2.WMSC เป็นข้อมูลของกรมชลประทาน เช่น สถานการณ์น้ำในอ่าง ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า เป็นต้น 3.CPY MONITOR เป็นระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา และ 4.WATER SMART เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อปฏิรูปภาคการใช้น้ำ เกษตรกรรมของประเทศไทย   

 


สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรมชลประทานขึ้นสู่ปีที่ 117 นั้น อธิบดีกรมชลประทานย้ำว่าจะเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 157 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ โดยมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน  พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติผ่านหลักสูตรการอบรมเตรียมการรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านทรัพยากรน้ำ) โดยเร็ว   


  จัดงานใหญ่ย้อนรอย“116ปีกรมชลฯ”  
           มนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการ “ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน" เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน ครบรอบ 116 ปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน ณ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ โดยกรมชลประทานมีอายุครบ 116 ปี ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ภายในงานดังกล่าวมีการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมต่างๆ ของกรมชลประทาน อาทิ การจำลองการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) การจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการบิ๊กดาต้าด้านบริหารจัดการน้ำชลประทาน การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การพัฒนาเครื่องจักรกลด้านชลประทาน และร่วมตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมชลประทานที่นำมาจัดแสดงให้ชมกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนนลูกรังผสมยางพารา นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องตอกทดลองเพื่อหาการรับน้ำหนักของดิน เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก พร้อมสัมผัสการสาธิตการใช้โดรนชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสำรวจงานชลประทาน เป็นต้น
      นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ทั้งคลินิกพัสดุ บูธการออกบัตรราชการแบบรอรับได้ทันที ร่วมสนุกไปกับเกมบริหารจัดการน้ำบนจอยักษ์ 50 นิ้ว พร้อมรับของแจกและของรางวัลมากมายภายในงาน หรือจะร่วมสร้างโลกสีเขียวด้วยกล้าไม้ ที่นำมาแจกจ่ายกันถึงที่กว่า 1 หมื่นต้น พร้อมอุดหนุนสินค้าจากแผนส่งเสริมอาชีพที่มีให้เลือกกันมากมายจากร้านค้าชุมชน ตลอดจนเพลิดเพลินไปกับวงดนตรีชลประทาน Smart Surveryor band และ ICT band อีกด้วย
       “สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมชมงานนิทรรศการวันคล้ายวันสถาปนา 116 ปี กรมชลประทานได้ ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ สนามหญ้าบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย                                         
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ