ข่าว

 อานิสงส์"ฝายทดน้ำคลองไทรนอง2"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 อานิสงส์"ฝายทดน้ำคลองไทรนอง2"ชุบชีวิตชาวสวนผลไม้เมือง"จันทบูร"          

 อานิสงส์"ฝายทดน้ำคลองไทรนอง2"

เหมือนได้กลับคืนฟื้นชีวิตใหม่อีกครั้งสำหรับเกษตรกรชาวสวนผลไม้แห่งบ้านไทรนอง ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี “พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข” ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้บังเกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรโดยเร็ว โดยภายหลังจากการรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงาน องคมนตรีได้กล่าวกับชาวบ้านที่มารอต้อนรับว่า

 อานิสงส์"ฝายทดน้ำคลองไทรนอง2"

 

"โครงการนี้นับเป็นโครงการแรกๆ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณารับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนนับจากนี้การก่อสร้างก็จะแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และดีใจที่ได้มีโอกาสเดินทางมาพื้นที่ครั้งนี้ คิดว่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง และมังคุด ก็คงจะสมบูรณ์มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา ก็ขอให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลบริหารจัดการให้โครงการนี้เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป”

 

 

อาคม วาจาสัตย์ เกษตรกรหมู่ที่ 15 ต.สองพี่น้อง จ.จันทบุรี หนึ่งในราษฎรที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าว เผยว่า มีอาชีพทำสวนผลไม้ ปลูกเงาะ มังคุด ที่ผ่านมาทุกปีในช่วงหน้าแล้งจะต้องใช้น้ำมาก หากน้ำไม่พอผลผลิตจะเสียหาย จำหน่ายไม่ได้ราคา ที่ผ่านมาก็มีปัญหาทุกปี ต้องลงทุนกันเองในการหาน้ำด้วยการขุดสระน้ำแล้วดูดน้ำขึ้นไปรดต้นไม้ แต่ปัญหาก็ไม่หมดไป ปีไหนแล้งมากสระที่ขุดก็แห้งไม่มีน้ำ ปีไหนมีฝนก็โชคดีไป ปีไหนฝนมาช้าก็ลำบากเช่นกัน ต้องเสียค่าไฟฟ้าเดือนหนึ่งประมาณ 1 หมื่นบาท ไปรดต้นไม้ประมาณ 4 เดือน ก็คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท หากโครงการนี้แล้วเสร็จก็จะเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อชาวสวนทั้ง 2 ฝั่ง ที่จะมีน้ำเพียงพอต่อการบำรุงต้นไม้ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ออกมาก็จะมีคุณภาพขายได้ราคา 

“ผมได้เสียสละพื้นที่ของสวน 1 ไร่ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรองรับน้ำของโครงการ ซึ่งเมื่อมองถึงประโยชน์ที่จะได้รับแล้วนับว่าคุ้มค่ามาก และเป็นประโยชน์ที่ส่วนรวมต่างก็ได้รับเช่นเดียวกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์พระราชทานโครงการนี้มาให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ราษฎรทั้งสองฝั่งของโครงการได้ตกลงกันแล้วว่าจะร่วมกันดูแลโครงการ และช่วยกันบำรุงรักษาเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป” เกษตรกรรายเดิมกล่าว

ขณะที่ ทินกร สุทิน ผู้อำนวยการชลประทานจันทบุรี ระบุว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ค่อนข้างลาดชัน น้ำที่ไหลมาจากร่องน้ำที่สูงจะไหลไปตามร่องต่ำหมด ฤดูแล้งก็จะเก็บน้ำไม่ได้ ทำให้เกษตรกรที่ทำสวนตลอดถึงการอุปโภคบริโภคขาดแคลนน้ำ ราษฎรจึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานความช่วยเหลือ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 10 ทาง จ.จันทบุรี ก็ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นงบพัฒนาจังหวัดเข้ามาดำเนินการ 

ซึ่งในระยะแรกที่ทางส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการ ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องสปิลล์เวย์ ซึ่งต้องสร้างในพื้นที่ของราษฎร และมีต้นทุเรียนที่ปลูกแล้วประมาณ 10 กว่าต้น เพื่อไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน จึงได้สั่งหยุดการก่อสร้าง พร้อมกับแก้ไขแบบด้วยการย้ายสปิลล์เวย์ไปไว้อีกทางหนึ่ง

“ครั้งแรกที่กำหนดแบบเพื่อย้ายสปิลล์เวย์แต่สำรวจไม่ละเอียด ปรากฏว่าพื้นดินข้างล่างเจอหินก้อนใหญ่ ก็ไม่สามารถทำสปิลล์เวย์ ณ จุดนั้นได้ ก็ทำการแก้ไขแบบใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อขยับเข้ามาอีก ซึ่งขณะนี้แบบชุดล่าสุดได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่น่าจะเกิน 2 เดือนข้างหน้าก็จะแล้วเสร็จ”

ผู้อำนวยการชลประทานจันทบุรีเผยต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรจะได้รับอย่างเต็มที่ แม้ดูเหมือนการเก็บกักน้ำของทำนบจะน้อยคือ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ก็ตาม แต่จากสภาพของภูมิประเทศของ จ.จันทบุรี ก็จะมีน้ำเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทำนบตัวนี้จะมีน้ำใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยเหลือราษฎรได้ทั้งหมู่บ้าน ที่สำคัญมีแหล่งน้ำธรรมชาติมาจากเทือกเขาสุกิมในพื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นน้ำต้นทุนที่มีไหลตลอดทั้งปี

“ประโยชน์ในการใช้น้ำจากโครงการนี้ จากการพูดคุยกับราษฎรในพื้นที่แล้วพบว่า หากมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทางชุมชนจะนำมาใช้เป็นน้ำดิบผลิตประปาหมู่บ้านเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคของราษฎรในชุมชนด้วย ซึ่งจะใช้ประมาณ 2 หมื่นกว่าคิวต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณเพียงพอ” ทินกรย้ำทิ้งท้าย 

                               

 กว่าจะมาเป็น“ฝายทดน้ำคลองไทรนอง”

สำนักราชเลขาธิการมีหนังสือที่ รล 0008.2/4786 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ขอให้เสนอความเห็นกรณี นายวีระ จันทวังโส ราษฎรบ้านไทรนอง หมู่ 15 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานโครงการฝายทดน้ำคลองไทรนองตอนบน บริเวณบ้านไทรนอง เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการเกษตร 

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2559 สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน ผู้นำชุมชน และราษฎรในพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ สรุปได้ว่าราษฎรบ้านไทรนอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น มีแหล่งน้ำต้นทุน ได้แก่ บ่อน้ำตื้น คลองไทรนอง และเมื่อปี 2555 กรมชลประทานได้ก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง ความจุประมาณ 6 หมื่นลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่าในฤดูแล้งหมู่บ้านยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร

เทศบาลตำบลสองพี่น้อง แบ่งการปกครองออกเป็น 17 หมู่บ้าน ในส่วนหมู่บ้านไทรนอง มีประชากร 185 ครัวเรือน รวม 578 คน พื้นที่ติดเขาสุกิม มีลักษณะเป็นเนินเขา คลองไทรนองมีสภาพเป็นร่องเขา มีความลาดชันค่อนข้างมาก มีต้นน้ำอยู่เขาสุกิม ในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน จะมีปริมาณน้ำมาก แต่จะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง แต่จากการสำรวจปริมาณน้ำท่าพบว่ามีน้ำผ่านทั้งปี ประมาณ 7 แสนลูกบาศก์เมตร

จากการสำรวจและหารือร่วมกันสรุปได้ว่า ควรดำเนินการก่อสร้างทำนบดินเพิ่มเติมอีกแห่งทางตอนล่าง ในพื้นที่ห่างจากทำนบดินบ้านไทรนองเดิม โดยฝายจะมีความสูงประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร คาดว่าจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 54,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรประมาณ 55 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวราษฎรผู้มีเอกสารสิทธิได้ยินยอมอุทิศให้ดำเนินการได้

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กปร. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ควรรับโครงการทำนบดินบ้านไทรนอง 2 เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยดำเนินการก่อสร้างทำนบดินจำนวน 1 แห่ง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในช่วงฤดูแล้งจะช่วยพื้นที่เกษตรได้ประมาณ 55 ไร่ 

สำนักงาน กปร. ได้มีหนังสือที่ กร 0002/3267 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท กรณีที่นายวีระ จันทวังโส ราษฎรบ้านไทรนอง หมู่ 15 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองไทรนองตอนบน เพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรของราษฎร

สำนักราชเลขาธิการจึงนำเรื่องขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองไทรนองตอนบน เสนอต่อที่ประชุมคณะองคมนตรี

และจังหวัดจันทบุรีได้อนุมัติงบประมาณให้แก่โครงการชลประทานจันทบุรี จำนวน 7 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองไทรนองตอนบนแล้ว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 เพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้แก่ราษฎร 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ