ข่าว

ขึ้นทะเบียนหมา "ช่วย" แก้ปัญหาหมาจรจัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมนื - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย -รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร

 

     ร่ำๆ ว่าจะมีการออกกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งคลอดมา 3 ปีแล้ว แต่ไปไม่ได้ถึงไหน ปัญหาหมาจรจัดที่มาจากการถูกทอดทิ้งยังคงปรากฏ เช่นเดียวกับกรณีโรคเรบีส์ที่ระบาดอย่างครึกโครม

 

   เสาหลักของการแก้ไขปัญหาหมาจรจัดที่ประกอบด้วย 1.ขึ้นทะเบียนหมาเลี้ยง 2.ทำหมัน และฉีดวัคซีน 3.จัดสถานสงเคราะห์ และหาบ้านใหม่ และ 4.สร้างสำนึกความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ ต้องดำเนินอย่างควบคู่กันไปตลอดเวลา ลำพังเพียงเสาใดเสาหนึ่งมิอาจค้ำจุนให้การจัดการแก้ปัญหาหมาจรจัดให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ได้

    สำหรับประเด็นการขึ้นทะเบียนหมาเลี้ยงที่กำลังพูดถึงนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยมีมาในบ้านเรา กรุงเทพมหานครออกกฎกติกามาแล้วโดยสำนักอนามัยจัดพิมพ์เป็นคู่มือชื่อว่า “การจดทะเบียนสุนัขในกรุงเทพมหานคร” ออกตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 จวบจนบัดนี้ พ.ศ.2561 สิริรวมได้ 13 ปี มีหมาไปขึ้นทะเบียนสองแสนกว่าตัวจากนับล้าน !! สำเร็จแค่ไหนลองคิดกันดู

   ยิ่งถ้ากฎหมายใหม่ที่จะออกมามอบหมายให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใต้อำนาจของตนเองแล้ว นึกภาพดูเถิดครับว่าในสยามประเทศนี้จะมีความหลากหลายของวิธีการและการเก็บข้อมูลทะเบียนหมาขนาดไหน ?

ผมขอนำเสนอแนวคิดการขึ้นทะเบียนหมาที่พอจะเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ร่วมทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน พอเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้นำไปปรับใช้ตามความต้องการ ดังนี้ครับ

การทำเครื่องหมายประจำตัวหมา :

หมาบ้านทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนต้องสามารถระบุตัวได้จึงต้องมีเครื่องหมายประจำตัวโดยใส่ปลอกคอที่มีหมายเลข และหรือคิวอาร์โค้ด ติดอยู่ พร้อมกับฉีดไมโครชิพ เป็นเครื่องหมายประจำตัวอย่างถาวร เหตุที่ต้องมีเครื่องหมายทั้ง 2 อย่างนี้ เนื่องจากหมายเลขที่ปลอกคอนั้นมองเห็นได้ด้วยตาสะดวกดีก็จริงแต่สามารถหลุดหายได้ ในขณะที่ไมโครชิพติดอยู่ในร่างกายสัตว์เป็นการถาวรไม่มีวันหลุดหาย แต่มิสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงต้องใช้ควบคู่เพื่อให้เสริมกันและกัน

สถานที่และผู้ทำการขึ้นทะเบียน :

   เพื่อช่วยให้หน่วยงานภาครัฐที่มีทรัพยากรจำกัด ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นว่าน่าจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ที่มีสถานพยาบาลสัตว์ คือคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์อันต้องถูกขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์กับกรมปศุสัตว์อยู่แล้ว ทั้งยังมีจำนวนนับพันแห่งกระจายทุกภูมิภาคของประเทศ 

   ซึ่งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถประสานหาความร่วมมือในการมอบหมายให้เป็นผู้ทำการขึ้นทะเบียนหมาเหล่านั้น โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ทำเครื่องหมายทั้งหมายเลขประจำตัวที่ติดปลอกคอและไมโครชิพ พร้อมเครื่องอ่านหมายเลขไมโครชิพ สัตวแพทย์ประจำคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์จะเป็นผู้รับหน้าที่มาทำเครื่องหมายบันทึกประวัติขึ้นทะเบียนและออกบัตรประจำตัวหมาตัวนั้น 

   ในขณะเดียวกันคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ดังกล่าวจะเป็นจุดตรวจสอบหรืออ่านหมายเลขไมโครชิพประจำตัวสัตว์ที่สงสัยในกรณีหมาที่พลัดหลงจากเจ้าของ หรือหมาจรจัด ก่อนถูกจับส่งสถานสงเคราะห์สัตว์ด้วย ซึ่งจะมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ตลอดจนหมาที่ปลอกคอและหมายเลขหลุดหายไปจำต้องยืนยันด้วยการตรวจจากไมโครชิพโดยคลินิกเหล่านี้ได้

วิธีปฏิบัติ :

ภาครัฐหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นประสานงานกับสัตวแพทย์ผู้ประกอบการประจำคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ในพื้นที่เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเป็นหน่วยขึ้นทะเบียนโดยจัดหมายเลขประจำตัวสัตว์แบบห้อยติดปลอกคอ ไมโครชิพและเครื่องอ่าน ตลอดจนเอกสารการขึ้นทะเบียนไว้ให้ตามคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ ทำป้ายประกาศประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับทราบผ่านทุกๆ สื่อเพื่อให้สามารถนำหมาของตนไปรับการขึ้นทะเบียนจากสถานที่นั้นๆ 

   โดยอาจช่วยสร้างแรงดึงดูดใจด้วยบริการฉีดวัคซีนเรบีส์ฟรีควบคู่กันไปก็จะยิ่งทำให้มีผู้นำหมาบ้านหรือหมาเลี้ยงเข้าร่วมโครงการสูงขึ้น เราจะมีหมาที่ขึ้นทะเบียนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อจากสถานประกอบการไปยังส่วนงานที่เป็นเจ้าภาพมีฐานข้อมูลกลาง ต้องการรายงานวันต่อวันก็ยังได้โดยทำผ่านโทรศัพท์มือถือที่จัดทำแอพขึ้นมารองรับให้สะดวกแก่การใช้งาน หน่วยราชการท้องถิ่นและส่วนกลางที่เกี่ยวข้องจะได้รับข้อมูลการขึ้นทะเบียนหมาอย่างเป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้วางแผนการควบคุมโรคเรบีส์ เช่นเดียวกับการเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาหมาจรจัดและโรคเรบีส์ไปในขณะเดียวกัน

   เป็นไงครับ พอเห็นทางเป็นไปได้และการช่วยแก้ปัญหาหมาจรจัดจากการขึ้นทะเบียน แต่อย่าเข้าใจผิดว่าพอขึ้นทะเบียนหมาบ้านหรือหมาเลี้ยงเสร็จแล้วมาจรจัดจะหมดไปปั๊บ โรคเรบีส์จะหายไปพลัน หากคิดเช่นนั้นละก็ กรุณาย้อนกลับไปอ่านตั้งแต่ต้นอีกครั้งหนึ่งครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ