ข่าว

ตระเวนดูตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเมืองย่างกุ้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected]

 

               ในที่สุดการเดินทางของทีมวิจัยเราก็เข้าสู่พื้นที่สุดท้ายของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ก็คือเมียนมาร์ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่เรากำหนดไว้ว่าเราจะเริ่มเดินทางไปทางฝั่งตะวันออกก่อนเนื่องจากมี 3 ประเทศที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันแล้วค่อยข้ามมาฝั่งตะวันตกที่มีเมียนมาร์เพียงประเทศเดียว ซึ่งเมียนมาร์ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีกฎกติกามารยาทค่อนข้างเยอะเราคงไม่สามารถทำอะไรได้ง่ายตามใจเราได้ ดังนั้นการวางแผนจึงค่อนข้างเครียดพอควร  

ตระเวนดูตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเมืองย่างกุ้ง

 

              การเดินทางครั้งนี้เราได้เพื่อนร่วมทางจากทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือ ผศ.ดร.ภานุพันธ์ ประภาติกุล ซึ่งอยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร หรือ UNAED ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเมียนมาร์ ดังนั้นการเดินทางครั้งนี้จึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นมาอีกโข  ตามที่กำหนดไว้เราได้วางแผนว่าจากรุงเทพฯ ไปที่ย่างกุ้งและสำรวจตลาดสินค้าเกษตรจากนั้นก็เดินทางไปยังพื้นที่หลักที่เมืองเนปิดอว์ที่เป็นเมืองหลวงของเมียนมาร์เพื่อพบนักวิชาการด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเยซิน หรือ YAZIN AGRICULTURAL UNIVERSITY หรือ YAU ซึ่งเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อพูดคุยและสำรวจพื้นที่การเกษตรในพื้นที่แถบนั้นจากนั้นจึงเดินทางกลับมาย่างกุ้งและเดินทางกลับกรุงเทพฯ 

 

ตระเวนดูตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเมืองย่างกุ้ง

               จากข้อมูลเบื้องต้นที่เราศึกษามาก็พบว่าเมียนมาร์เป็นประเทศที่ศักยภาพด้านการการเกษตรค่อนข้างสูงในแง่ของพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งน้ำ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ความหลากหลายของสภาพพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการบริหารภายในประเทศที่สามารถกำหนดนโยบายการเกษตรได้ง่ายและชัดเจน รวมถึงเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจต่างชาติทั้งเอเชียและยุโรปเข้ามาลงทุนอย่างมากมายเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เนื้อหอมมากในกลุ่มซีแอลเอ็มวี 

              นอกจากนี้ผลผลิตทางการเกษตรก็มีปริมาณมากและมีความหลากหลายเรียกได้ว่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและเหลือส่งออกอีกพอควร ดังนั้นการอยู่ในย่างกุ้งวันแรกเราจึงมุ่งไปที่การสำรวจตลาดสินค้าเกษตรซึ่งอยู่ในตัวเมือง ซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่ใหญ่มากทั้งขายปลีกและขายส่ง จึงมีคนเดินเข้าออกค่อนข้างแน่นมาก และสินค้าเกษตรที่ขายก็มีทั้งพืชผักที่หลากหลายทั้งผักกาด คะน้า กระหล่ำปี แครอท มะเขือ มะนาว พริก หอม กระเทียม และถั่วฝักสดต่างๆ 

              ซึ่งถ้าสังเกตด้วยตาแล้วขนาดของพืชผักต่างๆ จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่สมบูรณ์และถ้าพูดถึงน้ำหนักก็คงไม่ต้องพูดถึง ทีมเราก็ได้ลองคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็ได้ความว่า ผลผลิตที่ขายกันส่วนใหญ่มาจากในเมียนมาร์เองจากหลากหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลางและขึ้นไปทางตอนเหนือของเมียนมาร์ ซึ่งมีพื้นที่การผลิตค่อนข้างมาก  

 

             นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าก็ยังบอกเราว่าก็จะมีสินค้าเกษตรจากจีนเข้ามาบ้างพวกผลไม้ประเภทแอปเปิ้ลลูกเล็กๆ เหมือนที่ขายกันในไทย และผลไม้ที่เป็นผลผลิตของเมียนมาร์เองพวกส้ม สับปะรด ทุเรียน แตงโม องุ่น ก็ชวนให้นึกถึงเหมือนเดินตลาดในไทยเพราะมีผลผลิตค่อนข้างมากให้เลือกซื้อ แต่ในการเดินตลาดครั้งนี้เราไปสะดุดตากับองุ่น ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ค่อนข้างดูเป็นทางการที่ติดป้ายกันว่า MYANMAR GRAPE ตามด้วย Special Grape จึงทำให้พวกเราสนใจเป็นพิเศษที่อยากจะทดลองชิมกันเพื่อเก็บไว้ในความทรงจำแต่หลังจากทดลองชิมไปแล้วเราเห็นตรงกันว่าทั้งรสชาติและคุณภาพยังไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไร 

 

ตระเวนดูตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเมืองย่างกุ้ง

             แต่ผลไม้ที่จะดูเยอะมากในช่วงที่เราอยู่ในเมียนมาร์น่าจะเป็นสับปะรดเพราะดูจากปริมาณการขนส่งโดยรถบรรทุกและจำนวนที่วางขายในตลาดแล้วน่าจะถือได้ว่ามีปริมาณมากที่สุด ในตลาดแห่งนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรที่จะมาบอกเล่าให้ฟังกันต่อ แต่ขอเป็นในครั้งหน้าครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ