ข่าว

"แทรกแซงราคา"ตัวชี้วัด"ตลาด"ข้าวไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 อดีตสู่ปัจจุบันตัวชี้วัด"ตลาด"ข้าวไทย "แทรกแซงราคา"ตัวแปรสำคัญที่สุด          

 

เป็นที่รับรู้กันดีในวงการข้าวว่านโยบายระบายสต็อกข้าวกว่า 30 ล้านตันของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงในการส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มสดใสดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ไทยส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ปริมาณ 11.63 ล้านตัน และปี 2561 ไทยมีเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ปริมาณ 10 ล้านตัน มูลค่า 4,525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 158,000 ล้านบาท โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 นี้ ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ปริมาณ 3.31 ล้านตัน แซงหน้าประเทศคู่แข่งอย่าง อินเดีย เวียดนามและปากีสถาน 

 

"แทรกแซงราคา"ตัวชี้วัด"ตลาด"ข้าวไทย

 

 

"แทรกแซงราคา"ตัวชี้วัด"ตลาด"ข้าวไทย

 

“ข้อดีของรัฐบาลนี้ก็คือขายข้าวในคลังออกไปเกือบ 30 ล้านตัน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะทำให้ตัวพันธนาการราคาข้าวไทยหมดไป ตราบใดที่ข้าวอยู่ในมือรัฐบาลราคาข้าวไทยไม่มีวันสูงได้เลย ผู้ซื้อในต่างประเทศเขารู้ว่าสต็อกของรัฐบาลมีเอาไว้ขายไม่ได้เอาไว้เพื่อบริโภค ต่างจากจีนเขามีสต็อกอยู่ 100 ล้านตัน แต่เอาไว้บริโภคในประเทศ จึงไม่มีผลต่อราคาในตลาดโลก”

    ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้เหตุผลว่าทำไมราคาข้าวไทยจึงตกต่ำไม่สามารถส่งออกได้ในระหว่างการเสวนาหัวข้อ “ร้อยปีที่ฟันฝ่า ร้อยปีแห่งตำนานส่งออกข้าวไทย” ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี  โดยฉายภาพรวมให้เห็นตลาดข้าวไทยในแง่เศรษฐศาสตร์อธิบายง่ายมาก แต่ในแง่การเมืองกลับยุ่งยากมาก  อนาคตข้าวไทยจะเป็นอย่างไรจะต้องเข้าใจนโยบายข้าวของรัฐบาลให้แจ่มชัด  เนื่องจากนโยบายเรื่องข้าวของรัฐบาลจะเป็นการประสานผลประโยชน์ระหว่างชาวนากับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  ซึ่งการประสานผลประโยชน์นั้นจะใช้เครื่องมือการตลาดไม่ได้จะต้องใช้เครื่องมือเดียวคือเครื่องมือการเมือง 

    “การเมืองเท่านั้นที่จะประสานผลประโยชน์ได้ แต่การเมืองมันซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจเรื่องข้าวจะต้องเข้าใจนโยบายรัฐบาล เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องเข้าใจ”

   ดร.นิพนธ์ ย้อนอดีตในยุคการค้าข้าวเสรีตั้งแต่ปี 1851 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 จนมาถึงสงคามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะมาสู่ยุคแทรกแซงตลาดหลังสงครามโลก ซึ่งการค้าข้าวยุคนี้รัฐบาลไม่มีปัญญาทำเองต้องอาศัยพ่อค้า ส่งผลทำให้มีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร รัฐบาลจึงได้ใช้เครื่องมือสำคัญคือการกำหนดโควตาการส่งออกและจัดเก็บพรีเมียมข้าว  จากนั้นก็มาถึงยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน จึงให้ความสำคัญกับโรงสี  เนื่องจากเจ้าของโรงสีส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองในพื้นที่จึงมีผลต่อคะแนนเสียง ซึ่งเครื่องมือสำคัญในยุคนี้คือการสำรองตลาด การบังคับซื้อในราคาถูกและเป็นยุคเริ่มต้นของการประกันราคา ก่อนจะเข้าสู่ยุคประชานิยมอย่างเต็มตัวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

  “จริงๆ แล้ว นโยบายจำนำข้าวเกิดขึ้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่เป็นการจำนำยุ้งฉางราคาต่ำกว่าตลาด พอมายุค ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนเป็นประกันราคาแต่ว่าใช้จำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาด แต่จำกัดปริมาณ  พอ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่จำกัด อันนี้ทุจริตมโหฬาร โครงการใช้เงินไปเกือบ 1 ล้านล้าน ขาดทุนไป 6 แสนกว่าล้าน เป็นการทุจริตระบายข้าวที่อยู่ในอำนาจนักการเมืองถึง 1 แสนล้าน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเมืองมันเข้ามายู่งอยู่ตลอดเวลา” นักวิชาการเกียรติคุณเผย

    ขณะที่ วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยแนะรัฐบาลไม่ควรเข้ามายุ่งในเรื่องราคา ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก แต่ควรมุ่งพัฒนาระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและที่สำคัญส่งเสริมและสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร  เมื่อมีต้นทุนการผลิตต่ำ ชาวนาก็ขายข้าวได้ราคา ผู้ส่งออกก็สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ การวิจัยและพัฒนาหาพันธุ์ใหม่ๆ ตรงความต้องการของตลาดโลกก็เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เรามีเวทีในตลาดโลก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรมีพื้นที่ทำนาน้อย ไม่สามารถมีกำไรได้ ถึงแม้ต้นทุนการผลิตจะต่ำและให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงก็ตาม

     “ราคาตกขอให้ต้นทุนต่ำ ไม่แพงกว่าชาวโลกที่แข่งกับเรา เราก็อยู่ได้ แต่ที่เกษตรกรอยู่ไม่ได้ไม่ใช่เพราะราคาไม่ดี แต่มีพื้นที่ทำนาน้อย บางคนเหลือแค่ 10 กว่าไร่ ต่อให้มีกำไร 100 เปอร์เซ็นต์ก็อยู่ไม่ได้ เพราะที่ดินน้อยเกินไป แต่พ่อค้าอย่างผมมีกำไร 1 เปอร์เซ็นต์ก็อยู่สบาย แต่ยังไงก็อย่าไปแทรกแซงราคา” วิชัยกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ยังมองว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตข้าว หากขาดน้ำหรือมีระบบชลประทานไม่ดีก็ไม่สามารถผลิตข้าวได้อย่างเพียงพอ โดยยกตัวอย่างประเทศจีนที่ปัจจุบันนี้กำลังขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จนบางพื้นที่หรือบางมณฑลไม่สามารถผลิตข้าวได้ มิหนำซ้ำการปลูกข้าวในประเทศจีนยังปนเปื้อนสารเคมีอย่างรุนแรง ทำให้คนจีนเริ่มหันมานิยมบริโภคข้าวที่ปลูกจากประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ หากรัฐบาลมองเห็นปัญหาเหล่านี้ก็สามารถเจาะตลาดข้าวในจีนได้ ขณะเดียวกันแม้จีนจะปลูกข้าวได้ในปริมาณมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 1,500 ล้านคน

 

"แทรกแซงราคา"ตัวชี้วัด"ตลาด"ข้าวไทย

   “ประเทศเราโชคดีมากอยู่ทางใต้จีน  เขามีประชากร 1,500 ล้าน สตางค์เยอะ เศรษฐกิจใหญ่ เราต้องศึกษาว่าทำไมเขาไม่อยากจะกินข้าวของเขา เพราะข้าวของเขาเต็มไปด้วยสารเคมี ข้าวที่ปลูกที่หูหนานไปขายมณฑลอื่นเขาไม่ซื้อแล้วนะครับ เพราะมีสารเคมีปนเปื้อนในเนื้อข้าว  น้ำในประเทศจีนก็เริ่มขาดแคลน อย่างแม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำสายใหญ่อยู่ทางเหนือของประเทศแต่ละปีมีน้ำไหลไม่ถึงทะเลประมาณ 230 วัน เขาต้องขุดคลองส่งน้ำจากแยงซีเกียงทางตอนใต้ไปให้ทางเหนือ ถ้าเราเห็นอย่างนี้แล้วก็เป็นโอกาสของประเทศไทย” นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้มุมมอง

    อภิรดี ตันตราภรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าในเรื่องของกลไกราคาข้าวรัฐบาลทำเองเดี่ยวๆ ไม่ได้ต้องอาศัยภาคเอกชน โดยรัฐบาลเป็นแค่ผู้ออกนโยบาย หน้าที่ของรัฐบาลต้องดูความเหมาะสมเพื่อสร้างความสมดุลให้ทุกฝ่าย พ่อค้าอยู่ได้ เกษตรกรอยู่ได้ ซึ่งบางครั้งรัฐบาลอาจเข้าไปล้วงลูกมากเกินไปเพื่อความหวังดีแต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรได้   

    “เป็นรัฐบาลเหมือนมีลูกหลายคน ต้องยมอรับว่าการทำให้ข้าวสารถูก ข้าวเปลือกแพง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างข้าวหอมมะลิเป็นไฮไลท์ของข้าวไทย ปลูกได้ปีละครั้ง ผู้บริโภคหลายประเทศไม่ว่าจีน ยุโรป อเมริกา ต้องการมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ราคาถูก  ยืนยันได้เลยตอนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ตอนนั้นราคาข้าวตกต่ำมาก จะทำยังไงคุณต้องกำจัดข้าวในสต็อกออกไปให้หมด ทำให้เห็นว่า 2 ปีที่ทำลายสต็อกหมด ราคาข้าวสูงเองเลย ไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราตอนนี้ดูว่าตลาดต้องการอะไรก็สนับสนุนอันนั้นในสิ่งที่ตลาดต้องการ” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สรุปทิ้งท้าย 

 

 

 

 100 ปีสมาคมเตรียมจัดใหญ่พลัง “ประชารัฐ” ข้าว 

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดตัวโครงการ “100 ปีแห่งความภาคภูมิใจ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” เนื่องในโอกาสฉลองปีที่ 100 ของสมาคม เดินหน้าขับเคลื่อน 4 มิติแห่งการพัฒนา “เพื่อข้าว–ชาวนา–การค้า–และประชาสังคม” ร่วมกับภาครัฐและเอกชน พร้อมเตรียมจัดงานฉลองยิ่งใหญ่และหลากหลายกิจกรรมพิเศษต่อเนื่องตลอดปี

 ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวระหว่างเป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “100 ปีแห่งความภาคภูมิใจ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” โดยระบุว่าสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันข้าวไทยให้ก้าวไกลจนได้รับความสำเร็จในตลาดโลกในฐานะผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าว โดยเป็นสมาคมการค้าที่ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย จากวันแรกจนวันนี้สมาคมยังคงทำหน้าที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าข้าวของประเทศ ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี เสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจ สร้างโอกาสแก่ผู้ผลิตและพี่น้องเกษตรกรไทย

“ตลอดระยะเวลา 1 ศตวรรษที่ผ่านมา สมาคมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนอย่างเด่นชัดผ่านบทบาทของสมาคมในโครงการสำคัญต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็น 4 มิติแห่งการขับเคลื่อนพัฒนา "เพื่อข้าว–ชาวนา–การค้า–และประชาสังคม" โดยสมาคมได้ริเริ่มและดำเนินการส่งเสริมภาพลักษณ์ ยกระดับข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมผลักดันข้าวหอมมะลิไทยในเวทีการประกวดข้าวโลก "The World’s Best Rice Award" จนสามารถคว้าแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกมาครองถึง 5 สมัย รวมถึงล่าสุดในปี 2560"

  นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุอีกว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวในแต่ละฤดูการเพาะปลูกเพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างใกล้ชิด หรือการให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงการดำเนินการภายใต้ “โครงการประชารัฐ” เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรชาวนาไทย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการก่อสร้างท่อส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ตลอดจนการจัดซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวและสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าวแก่ชาวนา โดยปัจจุบันการดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ถึง 12 จังหวัด

   ทั้งนี้เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งในปี 2561 นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะจัดให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรชาวนา ประชาสังคม ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “พลังประชารัฐพัฒนาข้าวไทย”

  โดยการร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรมเพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของเกษตรกรด้านการตลาด บูรณาการร่วมกันในทุกมิติ พร้อมทั้งลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรใน 8 จังหวัดแหล่งผลิตข้าวสำคัญของไทยเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตที่ตรงความต้องการของตลาดโลกและเตรียม “กิจกรรมฉลองครบรอบ 100 ปี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเชิญชวนบุคลากรผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญในวงการข้าวจากทั่วโลกมาร่วมด้วย รวมถึงผู้ที่มีคุณูปการต่อสมาคมและวงการข้าวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ และร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานนับแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2461 ภายใต้ชื่อ “สมาคมค้าข้าวสยาม” มาจนถึงปัจจุบันที่จะครบรอบ 100 ปี ในปลายปี 2561 นี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ