ข่าว

มาตรฐานวิชาชีพ"ศก.พอเพียง"  ยกระดับ"เกษตรกร"สู่ไทยแลนด์4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ส่องผลสรุปมาตรฐานวิชาชีพ"ศก.พอเพียง"  ยกระดับ"เกษตรกร"สู่ไทยแลนด์4.0

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขและบรรเทาความทุกข์ยากของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เพื่อมิให้เกษตรกรเหล่านั้นละทิ้งแผ่นดิน โดยทรงเน้นให้มีความ “พออยู่ พอกิน” ให้สามารถพึ่งตนเองก่อนแล้วค่อยสร้างความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ทรงพระกรุณาพระราชทานแนวทางนี้เพื่อเตรียมความพร้อมการประกอบอาชีพของเกษตรกรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ยึดมั่นในวิถีพอมีพอกิน พึ่งพาตนเองได้ ไม่ฟุ่มเฟือย มีความโลภน้อย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พอประมาณตามอัตภาพ และมีเหตุผล ซึ่งสื่อถึงการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน 

มาตรฐานวิชาชีพ"ศก.พอเพียง"  ยกระดับ"เกษตรกร"สู่ไทยแลนด์4.0

 

                “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ไปติดตามความคืบหน้าโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างถูกต้อง

              รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสรุปผลการดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ณ ห้องประชุมอคาเซีย โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส โดยระบุว่า การน้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตรจะส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในสาขาต่างๆ จะทำให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพ มีความรู้ ความสามารถในการวางแผนการผลิตและกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุล มีนวัตกรรม พึ่งพาตนเองได้ และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคงและความยั่งยืนในอาชีพการเกษตร ประเทศชาติมีความมั่นคงทั้งทางอาหารและเศรษฐกิจ 

                 “การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเป็นการส่งเสริม พัฒนาเกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้มีสมรรถนะอาชีพในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้อง สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทิศทางการพัฒนาการเกษตรและตัวเกษตรกรเองให้มีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในบริบทของไทยแลนด์ 4.0”

             หัวหน้าโครงการระบุอีกว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ได้ประยุกต์หลักการการจัดทำแผนภาพ (functional map) ในการกำหนดสมรรถนะของแต่ละสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเจ้าของอาชีพ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทางการเกษตรในสาขาที่เกี่ยวข้อง มาร่วมให้ข้อเสนอแนะในทุกระดับขั้นตอนการทำงาน ทั้งในรูปแบบของคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน คณะรับรอง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีการจัดประชุมสัมมนาคณะทำงานของการดำเนินงาน

 

               นอกจากนี้ ยังมีการทดลองประเมินเกษตรกร จากผลของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 1 ปี โดยโครงการได้จัดทำร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ออกมา 5 อาชีพ ประกอบด้วย 1.อาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านทฤษฎีใหม่ 2.อาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านเกษตรผสมผสาน 3.อาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านพืชเชิงเดี่ยว 4.อาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านสัตว์เชิงเดี่ยว และ 5.อาชีพเกษตรกรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้านสัตว์น้ำ

              “ในแต่ละอาชีพจะมีระดับคุณวุฒิวิชาชีพ 3 ระดับ คือ ระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ชั้น 4, ระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ชั้น 5 และระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ชั้น 6 ซึ่งในแต่ละอาชีพและระดับคุณวุฒิจะมีการระบุคุณสมบัติของผู้สนใจเข้ารับการประเมิน สมรรถนะ ขอบเขตของสมรรถนะ ความรู้และทักษะที่พึงมี พร้อมเครื่องมือและกระบวนการการประเมินและการวัดผล ไว้เป็นการเฉพาะ”

              อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการประเมินระดับคุณวุฒิของแต่ละอาชีพ จะประกอบด้วย การทดสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์เชิงเทคนิคและการนำเสนอผลงาน ทั้งนี้ คุณสมบัติพื้นฐานของผู้สนใจเข้ารับการประเมินต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิทางการศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นอย่างต่ำ ส่วนการเลื่อนระดับคุณวุฒิวิชาชีพให้สูงขึ้นนั้นจะมีการพิจารณาจากประสบการณ์ตรงในอาชีพที่เกียวข้องและคุณวุฒิทางการศึกษาของผู้เข้ารับการประเมิน 

            สำหรับเกษตรกรที่มีคุณวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ ณ ปัจจุบัน สามารถเข้ารับการประเมินในระดับคุณวุฒิ ชั้น 6 ที่เป็นระดับสูงสุดของสาขาอาชีพเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้เพียงแสดงว่ามีประสบการณ์เป็นเกษตรกรในอาชีพที่เข้ารับการประเมิน มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรืออาจเป็นผู้สนใจเข้ารับการประเมินในระดับคุณวุฒิ ชั้น 6 ซึ่งต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาโท จึงสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในแต่ละสาขาดังกล่าวได้

             นับเป็นมิติใหม่ของภาคเกษตรกรรมไทยที่ต้องการยกระดับเกษตรกรจากใบรับรองมาตรฐานวิชาชีพนี้เปรียบเสมือนใบเบิกทางไปสู่ความก้าวหน้าในวิชาชีพเพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

                                                  ....................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ