ข่าว

ชป. เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 61

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชป. เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 61

 

กรมชลประทาน เดินหน้าเตรียมพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2561 หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ย้ำทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 30,089 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ชป. เดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 61

 


เช้าวันนี้(31 พ.ค. 61) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานการแถลงข่าวแผนบริหารจัดการน้ำและการเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2561 โดยมีดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยกเว้นภาคใต้ ได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งหลังจากนี้ไป กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 ที่ได้วางไว้ โดยสถานการณ์ปัจจุบัน(30 พ.ค. 61) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,848 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,929 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 สามารถรับน้ำได้อีก 30,089 ล้าน ลบ.ม.
เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)   มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,979 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,283 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35) ปริมาณน้ำใช้การได้เทียบกับปี 2560 ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่า 2,039 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 กรมชลประทาน ได้วางมาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง อาทิ การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การ   เก็บกัก การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย             การเชื่อมโยงข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และการเลื่อนเวลาการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มเพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เป็นต้น ส่วนมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้าง นั้น จะดำเนินตามแผนงานขุดลอก การซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทาน ตัดยอดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน รวมไปถึงการใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เกษตรด้วย 


ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อใช้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ได้แก่ พื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ในปีนี้มีการปรับเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จากเดิมปีที่แล้วมีพื้นที่ 265,000 ไร่ เพิ่มเป็น 382,000 ไร่ รับน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 400 เป็น 550    ล้าน ลบ.ม. ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 61 เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนกรกฎาคม
ส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา  ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก     ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมกว่า 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม.  ได้มีการส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปี ตั้งแต่ 1 พ.ค. 61 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน ก่อนจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูหลากต่อไป
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั่วประเทศ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ 30 พ.ค. 61) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.07 ล้านไร่(แผนวางไว้ 16.47 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกพืชไปแล้ว 3.60 ล้านไร่(แผนวางไว้ 7.73 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 13 ทุ่ง ปัจจุบันพื้นที่ตอนบนทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้ว(0.382 ล้านไร่) ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 0.707 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่เป้าหมายที่วางไว้ 1.15 ล้านไร่ รวมผลการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 13 ทุ่ง มีการทำนาปีไปแล้ว 1.089 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ทั้งสิ้น 1.532 ล้านไร่
ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง    ให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ พร้อมกับตรวจสอบอาคารชลประทาน ระบบชลประทานต่างๆ ในพื้นที่ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ทำการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งหมด 437 แห่ง โดยทุกแห่งยังคงมีสภาพมั่นคงแข็งแรงดี ทั้งนี้ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา การกำจัดสิ่งกีดขวางอย่างผักตบชวา ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่สำคัญได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้บูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและรายงานสถานการณ์น้ำต่อ          ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบ และเตรียมการป้องกันได้อย่างทันต่อเหตุการณ์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ