ข่าว

"ชาวสวนลำไย"สะอื้นอินโดงดนำเข้า !!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชาวสวน"ลำไยสะอื้นอินโดงดนำเข้าเกือบสามหมื่นตันสูญ 840 ล้านบาท"เกษตร"เร่งรณรงค์ผลิตลำไยคุณภาพเน้นตลาดบริโภคสดในประเทศ ยกระดับรายได้เกษตรกร

 

         26 พ.ค. 2561 จากสถานการณ์การส่งออกลำไยไปยังประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ดูเหมือนจะมีปัญหาไม่น้อย เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียได้สั่งงดการนำเข้าลำไยจากประเทศไทย จำนวน 28,000 ตัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  

 

           ทั้งนี้เนื่องจากปลูกเองและปริมาณผลผลิตก็ออกปริมาณมากในช่วงเดียวกับประเทศไทย เช่นกัน คือกรกฎาคม-สิงหาคม รวมทั้งอินโดนีเซียได้รณรงค์บริโภคในประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตลำไยที่กำลังจะออกในปีนี้  และสูญเสียรายได้กว่า 840 ล้านบาท ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการรณรงค์ผลิตลำไยคุณภาพ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และทดแทนตลาดอินโดนีเซีย

  

"ชาวสวนลำไย"สะอื้นอินโดงดนำเข้า !!!

 

          อย่างไรก็ตามปี 2556 - 2560 ประเทศไทยส่งออกลำไยสดไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 59,869.60 ตัน ในปี 2556 เป็น 97,180.86 ตัน ในปี 2560 โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยมีปริมาณผลผลิตออกมาก (ช่วงพีค) คือ เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม มีการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 15,546.21 ตัน ในปี 2556 เป็น 28,387.96 ตัน ในปี 2560 ซึ่งกรณีอินโดนีเซียงดการนำเข้าในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม คาดว่าจะกระทบต่อปริมาณผลผลิตลำไยสดที่ไม่สามารถนำเข้าได้ สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกที่มากที่สุดในปี 2560 ประมาณ 28,387.96 ตัน หรือคิดประมาณร้อยละ 30 ของลำไยในช่วงพีคทั้งหมด 

 

          นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการรณรงค์ผลิตลำไยคุณภาพ ปี 2561 เป็น 1 ในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) เป็นประธาน

 

"ชาวสวนลำไย"สะอื้นอินโดงดนำเข้า !!!

     

         มีเป้าหมายที่จะผลิตลำไยคุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพยกเกรด จากเกรด A เป็น AA ซึ่งจากการงดการนำเข้าลำไยของอินโดนีเซียในปีนี้ จำนวน 28,000 ตัน ทำให้ต้องเปลี่ยนเป้าหมายโดยได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการพัฒนาคุณภาพลำไย โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมต้นจนถึงการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะเน้นการตัดแต่งช่อผล เพื่อให้มีปริมาณจำนวนผลในช่อให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพลำไยจากเกรด A เป็น AA ให้ได้ 

 

         โดยในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะมีเนื้อที่ให้ผล จำนวน 837,721 ไร่ ผลผลิตรวม ประมาณ 659,134 ตัน จำแนกเป็นลำไยในฤดู จำนวน 639,413 ไร่ ผลผลิตจำนวน 386,303 ตัน และลำไยนอกฤดู จำนวน 198,308 ไร่ ผลผลิต จำนวน 272,831 ตัน  ผลผลิตในฤดูมีปริมาณมากกว่า ปี 2560 ร้อยละ 2.28 
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 6,543 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มศพก.กับแปลงใหญ่ลำไย และกลุ่มเกษตรกรรายใหม่ ผลิตลำไยคุณภาพได้มากกว่า 20,000 ตัน ซึ่งจะเน้นพัฒนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ 

                

"ชาวสวนลำไย"สะอื้นอินโดงดนำเข้า !!!

 

           “ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 ตลาดหลักจะอยู่ที่ตลาดลำไยอบแห้งทั้งเปลือกหรือตลาดลูกร่วง แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาทำเป็นลำไยสดช่อ มีการพัฒนาคุณภาพการตัดแต่งช่อผล มีการดูแลรักษาตามกระบวนการจัดการคุณภาพที่ดีและเหมาะสม จนสามารถยกระดับผลผลิตและเปลี่ยนตลาดเป้าหมายจากตลาดลูกร่วงมาเป็นตลาดบริโภคสดได้ โดยในปีนี้มีเป้าหมายผลิตลำไยเกรด AA ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น มั่นคง และยั่งยืนกว่าเดิม”

 

 

 

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ