ข่าว

 เปิดโลกนวัตกรรม"ข้าวไทย"  จากงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดโลกนวัตกรรม"ข้าวไทย"  จากงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

 

ปีที่แล้วกรมการข้าวเป็นเจ้าภาพร่วมกับ 9 องค์กรพันธมิตร จัดประชุมเวทีข้าวไทย ภายใต้หัวข้อ “กินข้าวไทยให้เป็น เห็นประโยชน์” มาปีนี้ถึงคิวสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรม เซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “งานวิจัยข้าวไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” 

 เปิดโลกนวัตกรรม"ข้าวไทย"  จากงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

“งานนี้ 2 ปีครั้ง ไม่ได้จัดทุกปี ครั้งนี้มีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ธีมการทำงานจึงเน้นนโยบายรัฐบาลการพัฒนาก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จากเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว โลจิสติกส์ โดยใช้งานวิจัยแปรรูปเชิงนวัตกรรมแล้วผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์  ไปสู่การลงทุนทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น”

พรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการ สวก. เผยต่อ “คม ชัด ลึก” ถึงนโยบายพัฒนาข้าวไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นงานวิจัยด้านข้าวตั้งแต่เริ่มการปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต  วิทยาการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรรูปตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ  ที่ขณะนี้กำลังฮอตมาก ก็คือสินค้าที่มุ่งเจาะเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เป็นสินค้าพรีเมียมมีตลาดเฉพาะ  เนื่องจากราคาข้าวไม่มีความแน่นอน แต่ถ้าเรามาสกัดทำอาหารเสริมราคาไม่แกว่งเหมือนข้าวเมล็ด เกษตรกรก็ไม่เดือดร้อน 

“อย่างข้าวสีสกัดทำยาแก้ผมร่วง โดยสวก. ร่วมกับ ม.แม่ฟ้าหลวง ขายดีมาก การนำรวงข้าวมาสกัดทำเครื่องสำอางพวกสเต็มเซลส์หรือน้ำนมข้าวจากข้าวยาคู จะเอาช่วงข้าวตั้งท้องเป็นข้าวยาคูแล้วรับซื้อในราคาที่สูง เกษตรกรก็จะขายข้าวได้ในราคาที่สูงมาทำน้ำนมข้าว เราสามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ตันละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทนะ ซึ่งอันนี้นวัตกรรมที่มาช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีมาตรฐานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทยแล้วยังเป็นการสกัดไม่ให้ข้าวล้นตลาดอีกด้วย”

ผอ.สวก. ยอมรับว่าในเรื่องการขายสิทธิบัตรหรือไอพีผลงานวิจัยแก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมค่อนข้างมีปัญหา ได้ราคาที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ แต่ก็เป็นใบเบิกทางให้แก่นักวิจัยและผลงานของเขาแทนที่จะเก็บไว้บนหิ้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวก. มีประมาณ 1,900 โครงการ ทีี่เสร็จสมบูรณ์แล้วประมาณ 600 โครงการ แต่ที่นำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้เพียง 270 ผลงานเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดในเวทีนานาชาติในแต่ละปี

 เปิดโลกนวัตกรรม"ข้าวไทย"  จากงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

“สวก.เราจะทำจนสุดเชน ถ้าไม่ขยายผลจนสุดเชนจะขึ้นหิ้ง  แต่ละปี สวก.มีทุนสนับสนุนงานวิจัยอยู่ที่ประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี จะมุ่งเน้นเรื่องเกษตรโดยเฉพาะ ปศุสัตว์ ประมง พืชและน้ำ กรมชลฯ เราให้ทุนวิจัยเป็น 100 ล้านเลยนะ อย่างตึกอัจฉริยะเราให้โปรแกรมสำเร็จรูป ซึ่งเขาก็เอาอาจารย์มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือมาร่วมทำวิจัย การคาดการณ์ปล่อยน้ำก็ใช้โปรแกรมของเรา  เราถ่ายทอดให้กรมชลฯ โดยไม่เก็บสตางค์ เพราะถือว่าเชิงสาธารณะ งานวิจัยเราสนับสนุน 3 ประเภทมีเชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ”

พรรณพิมล ย้ำด้วยว่า สำหรับงานวิจัยเชิงนโยบายที่ สวก.สนับสนุนจะให้หน่วยงานภาครัฐส่งเจ้าหน้าที่วิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัย เมื่อเสร็จสิ้นโครงการทางหน่วยงานจะได้นำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างเต็นที่ ขณะที่งานวิจัยก็ไม่ถูกนำไปขึ้นหิ้งเช่นอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์

“ต่อไปงานวิจัยทุกโครงการที่เราให้ทุนสนับสนุนจะต้องมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างโครงการวิจัยปุ๋ยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็จะมีทีมนักวิจัยจากกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปร่วมด้วย หรืองานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ว่าของอาจารย์มหาวิทยาลัยใดก็จะมีนักวิจัยจากกรมการข้าวร่วมด้วย เมื่อการวิจัยแล้วเสร็จเขาจะได้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้” ผอ.สวก.สรุปทิ้งท้าย 

                                     เปิดโลกนวัตกรรม"ข้าวไทย"  จากงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

                              

  ผนึก 9 องค์กรจัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งที่ 5 

 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เชิญชวน นักวิชาการ นักวิจัย นักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการด้านข้าว และเกษตรกร ร่วมงาน การประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0”       

นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการจัดการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการนำเสนอผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านข้าวจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยด้านข้าวของประเทศ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของ 9 องค์กรหลักในเรื่องข้าวของประเทศ ได้แก่ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจัดเป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพหลัก

"ปีนี้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม ภายใต้แนวคิด งานวิจัยข้าวไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนา ด้วยการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะผู้ผลิตข้าวส่งออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาข้าวไทย โดยเริ่มจาก ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าข้าวของประเทศ และผลักดันให้เกิดสินค้าข้าวเชิงนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำในการค้าข้าวในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน”

รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เผยต่อว่า การจัดประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งที่ 5 นี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจแบ่งเป็นการประชุมวิชาการและการจัดแสดงนิทรรศการ โดยในส่วนของนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและการพัฒนาข้าวไทย” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานโครงการเกษตรวิชญา และคลินิกการเกษตรเคลื่อนที่ ทำให้ชาวนาและเกษตรกรไทยสามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ความสำคัญกับ “อาหารกลางวัน” ของนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้มีอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ได้รับสารอาหารครบถ้วนที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างร่างกายและสมองเพื่อให้นักเรียนมีพัฒนาการสมวัย และนิทรรศการงานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยข้าวไทยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในการพัฒนาข้าวไทยสู่ความยั่งยืนของทั้ง 9 หน่วยงาน

“งานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาตินี้ เป็นงานที่เหมาะกับทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแต่นักวิจัยหรือนักวิชาการ แต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผู้ประกอบการด้านข้าว ก็สามารถมาร่วมงานเพื่อรับทราบข้อมูลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูปข้าว จะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ข้าวไทย นำมาซึ่งความมั่งคั่งยั่งยืนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแท้จริง” รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ  กล่าวย้ำ

                                             

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ