ข่าว

กระพือครีบขณะว่าย จุดเด่น"ปลานกแก้ว" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระพือครีบขณะว่าย จุดเด่น"ปลานกแก้ว" 

 

      สงรานต์ปีนี้ใครมีโอกาสไปเที่ยวทะเล ดำน้ำดูปะการัง ไม่ว่าจะทางฝั่งอ่าวไทยหรืออันดามัน จะสังเกตเห็นฝูงปลาน้อยใหญ่จำนวนมากแหวกว่ายอยู่รอบตัว แถมบางตัวยังว่ายตามเรามาอีกต่างหาก ฝูงปลาเหล่านี้ถ้าสังเกตให้ดีจะมีปลานกแก้วรวมอยู่ด้วยเสมอ

  พูดถึงปลานกแก้วแล้ว ในทะเลบ้านเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป มักชอบว่ายกันอยู่เป็นฝูง บางทีก็ 10- 20 ตัว บางทีก็มากกว่า จะอาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกเพียง 2-4 เมตรเท่านั้น บางครั้งเข้ามาในน้ำตื้นแค่ 1-2 เมตรก็มี ปลานกแก้วตัวผู้และตัวเมียอาจมีสีไม่เหมือนกัน รูปร่างก็ต่างกัน

ปลานกแก้ว(Parrot Fish) จัดอยู่ในครอบครัว Scaridae จุดเด่นอยู่ที่ฟันที่ปากเชื่อมติดกันเป็นแผ่น คล้ายกับปากนกแก้ว ส่วนฟันของมันจะใช้ประโยชน์ในการขูดปะการัง ถ้าใครดำน้ำแล้วได้ยินเสียงครืด ๆ เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นปลานกแก้วสุมหัว รวมกันขูดปะการังก้อน เป็นรอยขีดยาว ๆ เต็มพรืดไปหมด

และปะการังที่ปลากินเข้าไปนี่แหละ จะมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับท้องทะเล เพราะมันจะช่วยสร้างตะกอนทรายให้กับแนวปะการัง เพราะเมื่อปลากินปะการังพวกนี้เข้าไปก็จะย่อยเนื้อเยื่อปะการัง จนเหลือแต่เศษหินปูนที่ถูกบดจนละเอียด แล้วก็จะถ่ายออกมา ถ้าคุณว่ายน้ำตามปลานกแก้ว บางทีอาจได้เห็นอะไรขาว ๆ ฟุ้งกระจายทั่วไปหมด

 

 

ปลาชนิดนี้จะหากินในช่วงกลางวันเหมือนปลาอื่น ๆ ทั่วไป ส่วนกลางคืนจะแยกย้ายกันเข้านอน โดยจะลงไปตามพื้น หาซอกปะการังไว้แอบ บางตัวก็พ่นไยออกมาสร้าง “มุ้ง” ประโยชน์ของมุ้งคาดว่าเพื่อป้องกันปรสิตบางชนิดที่ชอบเข้ามาแอบดูดเลือดปลานกแก้ว อย่างเช่นหอยขนาดจิ๋ว จำพวกหอยแวมไพน์ จะคลานเข้ามาใกล้ ๆ ปลานกแก้วแล้วยื่นงวงมาดูดเลือดจากเหงือกปลา แต่ไม่ถึงกับดูดจนปลาตาย

ส่วนอาหารการกินปลาชนิดนี้จะกินสาหร่ายเคลือบและปะการังเป็นอาหาร พวกเขามีฟันรวมกันเป็นแผ่นคล้ายปากนกแก้ว ใช้เพื่อขูดผิดของปะการังและสาหร่าย กินทุกอย่างที่ขูดเข้าไปก่อนจะขับถ่ายเศษหินปูนออกมา เป็นตะกอนทรายในแนวปะการังต่อไป

นอกจากนี้ปลานกแก้วจุดเด่นที่สำคัญอีกประการ ก็คือเวลาแหวกว่ายน้ำจะเห็นมันกระพือครีบ เป็นจังหวะ ๆ คล้ายกับนกแก้วบิน ซึ่งมีความสวยงามยิ่งนัก 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ