ข่าว

 สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้าย ! หากใช้ถูกวิธี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เสียงสะท้อนจากชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู  สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้ายหากใช้ถูกวิธี  

 ไม่ปฏิเสธว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นหนึ่งในการกำหนดต้นทุนการผลิตสำหรับภาคเกษตร จากสถิติการนำเข้าสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (โรค แมลง วัชพืช) ในปี 2520–2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2520 ปริมาณนำเข้าทั้งหมด 6,811 ตัน และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 154,568 ตัน คิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 0.84 กิโลกรัมต่อไร่สำหรับประเทศไทย หากเทียบกับประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชสูงมากเฉลี่ยปีละ 4 และ 8 กิโลกรัมต่อไร่ 

 สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้าย ! หากใช้ถูกวิธี

 

“ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้พาไปตะลุยแดนอีสานฟังเสียงสะท้อนของชาวไร่อ้อยที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืชในการจัดการอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม บุญโฮม อะโน เจ้าของร้านบุญนภาการเกษตร ขณะที่หมวกอีกใบเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงานบนเนื้อที่กว่า 500 ไร่ บุญโฮมบอกว่าอดีตเคยทำนาปลูกข้าวเหนียว เมื่อรัฐบาลมีนโยบายโซนนิ่งอ้อย จึงเปลี่ยนที่นาหันมาปลูกอ้อยแทน หลังมีโรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ โดยพื้นที่ไร่อ้อย 500 ไร่ มีต้นทุนการผลิตตลอดอายุการเก็บเกี่ยว 3-4 ตออ้อย หรือ 3-4 ปีจะอยู่ที่ 8,000 บาทต่อไร่ ที่รวมทั้งค่าตอพันธุ์อ้อย ค่าแรง ค่าปุ๋ยค่ายา โดยแต่ละปีจะมีการฉีดยากำจัดวัชพืช 3 ครั้ง ซึ่งในปีแรกจะได้ผลผลิตประมาณ 12 ตันอ้อยต่อไร่ ปีต่อมาผลผลิตลดลงอยู่ที่ 6 ตันอ้อยต่อไร่ ขณะที่ราคารับซื้ออ้อยหน้าไร่อยู่ที่ตันละ 700 บาทและปีที่ 3 และ 4 จะลดหลั่นกันไปตามความสมบูรณ์ของดินและการบำรุง

“ในข้อเท็จจริงเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าหญ้าจะผสมยาลงถังแล้วใช้รถแทรกเตอร์พ่วงฉีดในไร่ คนฉีดไม่ได้สัมผัสโดยตรง คนงาน 1 คนสามารถฉีดได้ 20 ไร่ต่อวัน แต่ในเกษตรกรรายย่อย คนฉีดเป็นกลุ่มแรงงานรับจ้างฉีดพ่นยา ผมว่ากลุ่มนี้สำคัญพอๆ กับร้านขายปุ๋ยยา เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าใจกลุ่มของยา วิธีการใช้ ตลอดจนการออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัว ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของพืชประธานและวัชพืช เมื่อรับงานแล้วเขาจะเข้ามาจัดยาจากร้านไปฉีดพ่น การเลือกใช้จะเป็นไปตามคำแนะนำของร้าน และความคุ้นเคยส่วนตัว พื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เพิ่งจะหันมาปลูกอ้อยโรงงานไม่นาน ผู้ใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยและยาอย่างถูกต้อง ซึ่งก็ต้องได้รับคำแนะนำจากร้าน และดูขั้นตอนการปฏิบัติจากฉลากข้างขวดอย่างเคร่งครัด"

 

 สารกำจัดวัชพืชไม่ใช่ผู้ร้าย ! หากใช้ถูกวิธี

 

บุญโฮม ระบุว่า การเกิดกระแสข่าวยาฆ่าหญ้ายี่ห้อหนึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหนังเน่า และยังไม่มีข้อสรุปว่าจะอนุญาตให้ขายหรือไม่ ทำให้คนฉีดพ่นก็ตีเหมาเอาเลยว่าเป็นยายี่ห้อนี้ จึงเกิดความไม่เป็นธรรม ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วเขาเองยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกใช้กลุ่มยาและวิธีการปฏิบัติอย่างแท้จริง 

เขายอมรับว่า ในส่วนตัวการเลือกใช้ยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย 500 ไร่ของตนเองจะใช้ยี่ห้อที่คุ้นเคยมานาน เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้จริง เนื่องจากเห็นผลที่ชัดเจนและควบคุมการฉีดพ่นได้

“ถามผมในฐานะทั้งคนขายและคนใช้ ผมไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ถ้าเขาไม่ซื้อยี่ห้อนี้นะเขาก็ยังใช้ยี่ห้ออื่นอยู่ดี อาจต้องจ่ายค่ายาและค่าแรงเพิ่ม ในฐานะคนขายผมไม่เดือดร้อน ยังไงผมก็ขายได้ แต่ในแง่ของคนซื้อ ผมกังวลว่านี่จะเป็นภาระให้แก่ชาวไร่อ้อย เพราะเขาขาดความเข้าใจที่ชัดเจน” บุญโฮมกล่าวย้ำ

ขณะที่ นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ระบุชัดว่า การใช้สารเคมีอาจเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังเน่า แต่ไม่ใช่มีผลกระทบโดยตรง หากเกษตรกรมีการใช้อย่างถูกวิธีในกรณีที่เกษตรกรเป็นแผลและมีการใช้สารเคมีหรือมีความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมีโดยไม่ถูกสุขลักษณะ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรกว่า 149 ล้านไร่ มีประชากรที่ยึดอาชีพเกษตรกร 17 ล้านคน นอกจากผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภคในประเทศแล้วยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกสูงถึงปีละ 1.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมี) ประมาณ 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ขณะพื้นที่อีก 148.7 ล้าน หรือ 99.83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังมีความจำเป็นในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อใช้ป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อการส่งออก ภายใต้กระบวนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ จีเอพี (Good Agricultural Practices: GAP) โดยการสนับสนุนจากกรมวิชาการเกษตร 

 

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลักอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์มน้ำมัน  ถือเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่คุ้นเคยมากว่า 50 ปี เพื่อการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ในการพัฒนาเกษตรกรฐานรากไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์อย่างแท้จริง 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ