ข่าว

 จากเลี้ยงไก่ชนสู่"ไก่ยาง"สร้างอาชีพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จากเลี้ยงไก่ชนสู่"ไก่ยาง"สร้างอาชีพ

 

กีฬาไก่ชน มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากตำราเชื่อกันว่า ไก่เหลืองหางขาว เป็น ไก่เจ้า เลี้ยงในทุกๆ พื้นที่ที่มีการเล่นไก่ชน และมักจะเป็นตัวเอกทุกๆ สังเวียนอยู่เสมอ แถมยังจัดเป็นไก่ที่มีสกุลและมีลักษณะเด่นมาก จากประวัติฝีมือ ความสามารถ จากกีฬาไก่ชนที่มีมาตั้งแต่อดีตบางที่อาจจะเลือนหายไปบ้าง แต่ที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันก็คือหมู่บ้านหนองสระพัง หมู่ 19 ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

ตาพา สีทน วัย 75 ปี คนเก่าแก่ของหมู่บ้าน บอกว่า ชื่อหมู่บ้านว่า หนองสระพัง มาจากประวัติหมู่บ้าน โดยบ้านหนองสระพัง มีราษฎรจากบ้านหนองแวงเมืองเก่า จ.ขอนแก่น อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณหนองบัว ต่อมาได้เกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก จึงพร้อมใจกันย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณหนองสระ เพราะตรงที่มีน้ำมักจะอุดมสมบูรณ์

ต่อมามีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้หนองสระที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมนั้นพังลงมา จึงตั้งชื่อบ้านว่า “หนองสระพัง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในหมู่บ้านมีอาชีพทำไร่ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ไม่ค่อยมีใครไปทำงานในเมืองกรุง และมีชาวบ้านบางส่วนเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเพราะทำเงินได้ดีอีกด้วย

“ตื่นเช้ามาต้องล้างหน้าไก่ชนก่อน คนเลี้ยงไม่ล้างไม่เป็นไร” ตาพา บอก ตอกย้ำถึงความผูกพันระหว่างคนกับไก่ชน

 จากเลี้ยงไก่ชนสู่"ไก่ยาง"สร้างอาชีพ

 

สมัยก่อนนั้นการเลี้ยงไก่ชนเลี้ยงไว้เพื่อเป็นกีฬาในงานรื่นเริงต่างๆ ของหมู่บ้าน แต่ภายหลังมีการเปิดบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย ตาพา สีทน  จึงหันมาเลี้ยงไก่ชนอย่างจริงจัง ตาพายังบอกอีกว่าไก่ตัวแรกที่เลี้ยงได้มาจากการไปดูไก่ชนที่บ่อน เกิดความพอใจจึงขอซื้อเขามา ในทุกวันตาพาจะตื่นแต่เช้ามาให้น้ำไก่ เพื่อให้ทันแสงแดดแรกของวัน

ในขณะที่คนในหมู่บ้านเดียวกันอย่าง ปรียะ แก้วกัลยา หรือบอย วัย 34 ปี เจ้าของฟาร์มไก่ชนเพชรมิ่งเมือง บอกว่า การเลี้ยงไก่ชนนั้นต้องมีความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เอาเขามาเลี้ยงก็ต้องดูแลให้ดี เพราะทุกเช้าไก่จะต้องได้อาบน้ำและได้รับยาบำรุงหรือสมุนไพรที่ช่วยให้ไก่แข็งแรงอย่าง เช่น บอระเพ็ด กระเทียม กระชาย พริกไทย ขมิ้น เป็นต้น หลังจากอาบน้ำและกินยาบำรุงก็ต้องนำไก่ไปตากแดดเพื่อลดน้ำหนัก พอไก่เริ่มหอบก็เก็บไก่เข้าร่มแต่อย่าเพิ่งให้ข้าวให้น้ำ เพราะจะต้องฝึกให้ไก่ได้รู้จักอดทน หลังจากนั้น 5 นาที ค่อยเทข้าวเปลือกและน้ำสะอาดใส่ภาชนะของไก่

“เราต้องดูแลไก่ให้สมกับที่อยากได้มา ถึงแม้ว่าจะแพ้ชนะก็เป็นเรื่องของเกมกีฬา และก่อนจะเอาเขาไปชนจะต้องซ้อมให้แข็งแรง สมัยก่อนหน้านี้เคยใช้ไก่ชนตัวจริง ซ้อมกับไก่ชนอีกตัว แต่พอซ้อมเสร็จ ทั้งสองตัวต่างบอบช้ำ แต่ตอนนี้หันมาใช้ไก่ชนปลอมเพื่อซ้อมไก่ก่อนออกสู่สังเวียนแล้ว” บอย บอก

"การที่ต้องใช้ไก่ปลอมเป็นไก่ซ้อมนี่แหละ จึงทำให้เกิดอาชีพเสริมของคนในหมู่บ้านนี้ นั่นคือการทำไก่ยาง เพื่อเป็นคู่ซ้อมของไก่ชน"

 

 จากเลี้ยงไก่ชนสู่"ไก่ยาง"สร้างอาชีพ

ชุมพล สากาง วัย 35 ปี คนในหมู่บ้านหนองสระพังที่เคยชนไก่ แต่ตอนหลังหันมาผลิตไก่ยาง เพื่อขายให้เซียนไก่ชน จนมีรายได้พออยู่พอกิน บอกว่า แต่ก่อนก็ใช้ไก่จริงเป็นคู่ซ้อมแต่หลังการซ้อมไก่มักจะมีอาการอ่อนล้าให้เห็น เขาจึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้ไก่ไม่เจ็บปวดก่อนออกสู่สังเวียน โดยการทำไก่ยางเสมือนจริงมาเป็นคู่ซ้อม โดยเปิดดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แล้วจึงลองทำตาม โดยหาวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาลองทำแต่ยังไม่ถึงกับจริงจัง

ไก่ยาง ตัวแรกที่ทำขึ้นมา ปรากฏว่ามีเซียนไก่ชนในหมู่บ้านให้ความสนใจมากและมาขอซื้อ แต่เนื่องจากการทำในช่วงแรกใช้เวลานาน จึงไม่ได้รับปากที่จะทำให้ แต่พอช่วงหลังๆ ทำจนชำนาญ แถมวัสดุอุปกรณ์ที่ไปคัดสรรมาราคาก็ลดลง จึงได้หันมาทำขายให้เพื่อนบ้าน และเป็นรายได้เสริม แถมกำลังจะกลายเป็นรายได้หลักอีกด้วย

“ตัวแรกที่ทำขาย ใช้เวลา 3 อาทิตย์ ได้เงินมา 700 บาท ครั้งนั้นคิดว่าถ้าทำต่อก็อาจจะมีรายได้ในการเลี้ยงตัวเอง จึงตัดสินใจเริ่มทำไก่ยางมาตั้งแต่วันนั้น ประมาณปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยสั่งซื้อน้ำยางพาราและหางไก่จริงจากญาติสนิท” ชุมพลเผยทิ้งท้าย

ไก่ยางคู่ซ้อมไก่ชน นับเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านหนองสระพังได้เป็นอย่างดี

ล้อมกรอบ - ขั้นตอนการทำไก่ยาง"คู่ซ้อมไก่ชน

ชุมพล สากาง อธิบายวิธีการทำไก่ยางว่าจะประกอบด้วยวัสดุหลักได้แก่ น้ำยางพารา ส่วนวัสดุอื่นๆ ที่ใช้อย่างเช่น ไก่ปูนปั้น ใยสังเคราะห์ พู่กัน น้ำส้มสายชู กรรไกร พู่กัน และสีน้ำ หาได้ตามท้องตลาดทั่วไป โดยไก่ยาง 1 ตัวใช้เวลาทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะต้องเอาน้ำยางพาราไปเทราดใส่ไก่ปูนปั้น จากนั้นทิ้งไว้ 30 นาที แล้วลอกออกจากไก่ปูนปั้น ก่อนจะนำมาเชื่อมกับน้ำยางพาราที่มีความเข้มข้นอีกครั้ง โดยนำบล็อกหัวไก่ บล็อกขาไก่ และหางไก่ประกอบเข้ากับตัวไก่ที่เชื่อมแล้ว จากนั้นก็ลงสีพื้นคือสีดำก่อน เพราะทำให้เหมือนหนังของไก่ แล้วค่อยลงสีสันตามลวดลายของไก่ก่อนจะนำไปตากแดดไว้ 1 วันเพื่อให้สีแห้ง

ปัจจุบันไก่ยางของชุมพลได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะในภาคอีสานแต่ยังมีลูกค้าอยู่ทั่วประเทศไทย โดยเฉลี่ยเขาสามารถผลิตไก่ชนยางเดือนละ 30 ตัว แต่ละตัวนั้นก็จะมีราคาอยู่ที่ตัวละ 1,500 บาท หักค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ แล้ว ไก่ยาง 1 ตัว ชุมพลก็จะได้กำไรประมาณตัวละ 700 บาท ซึ่งตกเดือนหนึ่งประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเขาบอกว่า พออยู่พอกินเพราะนี่ทำเป็นอาชีพเสริม และหากใครสนใจอยากจะสั่งซื้อ เขาก็บอกว่ายินดียิ่งนัก

                                       .............................................................................................

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ