ข่าว

 ผุดสองอ่างฯใหญ่"ไทรทอง-คลองลอย"ตัวช่วยอ.บางสะพาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

     ไม่ใช่แค่น้ำท่วมที่ทำให้คนบางสะพานเดือดร้อน ทว่าน้ำแล้งก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่นี่ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

             ไม่ใช่แค่น้ำท่วมที่ทำให้คนบางสะพานเดือดร้อน ทว่าน้ำแล้งก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่นี่ เพียงแต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูงเมื่อน้ำท่วมแต่ละครั้งน้ำจะไหลเร็วและแรงจนสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึงมกราคม 2560 ที่ผ่านมานั้นสร้างความย่อยยับให้แก่ชาวบางสะพานเหลือคณานับ

 

 ผุดสองอ่างฯใหญ่"ไทรทอง-คลองลอย"ตัวช่วยอ.บางสะพาน

               “ไม่ใช่แค่ปี 2548 และ 2560 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ อ.บางสะพาน แต่มันท่วมทุกปีทุกครั้งที่ฝนตกหนักและต่อเนื่อง เพียงแต่สมัยก่อนสิบยี่สิบปีที่แล้ว เมื่อฝนตกน้ำก็ไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีสิ่งขวางทางน้ำ แล้วในอดีตพื้นที่ อ.บางสะพาน ก็มีแก้มลิงเป็นทุ่งต่างๆ เช่น ทุ่งบ้านลานควาย ทุ่งนกกระเรียน หนองบัว จะเป็นที่รับน้ำ ไม่กระทบชาวบ้านเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไป ความเจริญเติบโตของเมืองมีมากขึ้น มีบ้านเรือน มีโรงงานอุตสาหกรรม การสร้างถนนต่างๆ แต่ก่อนเป็นถนนลูกรังที่น้ำสามารถข้ามถนนได้ ปัจจุบันเป็นถนนลาดยาง คอนกรีต กลายเป็นกำแพงกั้นทางน้ำโดยอัตโนมัติ ทำให้น้ำท่วมรุนแรง”

                กฤษฎา หมวดน้อย ปราชญ์ชาวบ้าน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ “คม ชัด ลึก" ถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  โดยยอมรับว่าสภาพภูมิประเทศก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ใน อ.บางสะพาน ส่วนใหญ่มีความลาดชันสูง เมื่อฝนตกแช่นานๆ ทางตอนบนน้ำก็จะไหลลงมาสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับ มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพียง 3 แห่งบรรจุน้ำได้แค่ล้านลูกบาศก์เมตรเศษเท่านั้น ไม่มีสามารถตัดยอดมวลน้ำมหึมาที่ไหลลงสู่เบื้องล่างได้

 

 ผุดสองอ่างฯใหญ่"ไทรทอง-คลองลอย"ตัวช่วยอ.บางสะพาน

 

                “ชาวบางสะพานไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้เตรียมพร้อมรับมือและช่วยเหลือตัวเองมาตลอด ดีใจที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีความห่วงใย มีหน่วยงานเข้ามาดูแลแก้ไขอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกรมชลประทานมีแผนงานโรดแม็พที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง ก็น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีได้โดยเร็ว” ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบางสะพานสะท้อนปัญหาให้ฟัง 

                  ขณะที่ ศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอบางสะพาน ยอมรับว่าน้ำท่วมบางสะพานนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบต่ำ ธรรมชาติของที่นี่น้ำท่วมจะมาเร็วไปเร็ว ทุกครั้งที่น้ำท่วมใช้เวลาไม่ถึงวันน้ำก็ลดเป็นปกติ ทำให้ชาวบางสะพานถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2559 และมกราคม 2560 เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดที่ชาวบ้านไม่มีวันลืม และอาจจะมีแบบนี้ครั้งต่อไปถ้าหากไม่มีการเตรียมการอะไรมารองรับ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประการแรก มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำไหลลงสู่ทะเลช้า ประการที่สอง มีสิ่งกีดขวางทางน้ำไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนถนนหนทางต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นและประการที่สาม การบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำไร่ทำมาหากิน ทำให้ไม่มีพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับน้ำ น้ำจึงไหลลงสู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็ว 

 

 ผุดสองอ่างฯใหญ่"ไทรทอง-คลองลอย"ตัวช่วยอ.บางสะพาน

 

              “จุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่โรงพยาบาลบางสะพาน เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุกครั้งที่น้ำท่วมทุกคนจะต้องมาที่โรงพยาบาลก่อน เพราะมีคนป่วย มีเครื่องมือแพทย์ราคาแพง จำได้ว่าตอนธันวา 59 ทุกคนมาช่วยกันสร้างกำแพงทราย 3 ชั้น คิดว่าเอาอยู่ ปรากฏว่าไม่สามารถช่วยได้ จาก 3 ชั้นก็เพิ่มเป็น 5 ชั้น จนวันที่ 8-9 มกรา สองวันน้ำขึ้นมาเฉลี่ย 400 มิลลิเมตร น้ำเยอะมากกำแพง 5 ชั้น สองทุ่มกว่ากำแพงพังเลย พวกผมช่วยกันนอนกันที่โรงพยาบาลในคืนนั้น” นายอำเภอบางสะพานเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งเจอน้ำท่วมบางสะพานครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่แล้ว

               บุญรอด หาญองอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างขนาดกลาง กรมชลประทาน ยอมรับว่าปัญหาน้ำท่วมบางสะพาน นอกจากมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิประเทศแล้ว การมีพื้นที่รองรับน้ำหรือชะลอน้ำเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกรมชลประทานได้มีการออกแบบไว้แล้วเพื่อแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งเพื่อให้ชาวบ้างสะพานมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยบางสะพานโมเดลประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือด้านขวาเทือกเขาสูง ด้านซ้ายพื้นที่ลาดลงทะเล กรมชลประทานได้มีการศึกษาข้อมูลหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเมื่อปี 2547 ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงมาถึง จ.ชุมพร รวม 3 จังหวัด โดยได้มีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเล็ก และขนาดกลางเพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วมหลายพื้นที่อยู่แล้ว แต่มีความขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่สูง  ทำให้มีการสร้างอ่างขนาดเล็ก ซึ่งสามารถบรรจุน้ำได้เพียง 1.3 ล้านเท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำบ้านไทรทองและอ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอย สามารถบรรจุน้ำสองแห่งรวมกันกว่า 100 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 

 

 ผุดสองอ่างฯใหญ่"ไทรทอง-คลองลอย"ตัวช่วยอ.บางสะพาน

 

                “กรมชลประทานได้ศึกษาอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งไว้แล้ว อ่างฯ บ้านไทรทองเก็บกักน้ำได้ประมาณ 13 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างฯ คลองลอยเก็บกักได้ประมาณ 17 ล้านลบ.ม. ซึ่งหากอ่างฯ ทั้งสองแห่งนี้แล้วเสร็จจะสามารถหน่วงน้ำได้บางส่วนเมื่อฝนตกลงมา เมื่อฝนหยุดตกก็จะสามารถใช้น้ำส่วนนี้เพื่อประโยชน์ภาคเกษตรในพื้นที่อีกกว่าหมื่นไร่ในช่วงหน้าแล้ง ที่จริง บางสะพานแล้งมากกว่าท่วมนะแล้วยังมีปัญหาน้ำจืดไม่พอใช้ในช่วงหน้าแล้ง เพราะเหตุว่าน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามา เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนรุกเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร ตอนนี้เกือบ 5 กิโลเมตรแล้ว ต่อไปปัญหาตรงนี้เข้ามาอีก นอกจากสร้างอ่างฯ ตอนบน 2 แห่งแล้ว ตัวคลองบางสะพานก็มีปัญหาโดยถูกรุกล้ำ มีตะกอนทับถมจนตื้นเขิน จึงจำเป็นจะต้องขุดลอกเพิ่ม คลองบางสะพานปัจจุบันบรรจุน้ำอยู่ที่ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่น้ำที่มา 800 กว่า จึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่าอย่างรุนแรง”

               ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ บุญรอดระบุว่า หลังจาก พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ก็ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.) รีบจัดสรรงบประมาณในปี 2561 มาดำเนินการก่อสร้างก่อนในช่วงแรก เนื่องจากหากรองบประมาณตามปกติจากกรมชลประทนอาจจะช้า ส่วนตัวอ่างเก็บน้ำจะกระทบกับพื้นป่าบางส่วน ประมาณ 100 ไร่เศษ ซึ่งขณะนี้ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ไปแล้วกว่า 90% เสร็จแล้วนำเข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อม หากกระบวนการไม่ติดขัดอะไร ต่อไปออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนต่อไป ส่วนอีก 200 ไร่ เป็นพื้นที่ส.ป.ก มีผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 200 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา 

                “โครงการนี้จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2564   ขณะเดียวกันเราก็จะทำท่อส่งน้ำไปพร้อมๆ กันด้วยเพื่อระบายน้ำจากคลองบางสะพานออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ในส่วนคลองบางสะพานทางสำนักงานชลประทานที่ 14 ได้รับงบประมาณปี 60 มาขุดลอกในช่วงปลาย วัดจากทะเลขึ้นมา ขณะนี้ขุดลอกไปแล้วประมาณ 4 กิโลเศษ แผนต่อไปจะขุดคลองระบายน้ำ 3 เส้นคือ คลองปัทมัง คลองแม่รำพึง และคลองเขาม้าร้อง และสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 3 เส้นก่อนระบายน้ำลงทะเล ส่วนคลองบางสะพานนอกจากขุดลอกแล้วก็ยังสร้างอาคารบังคับน้ำเพิ่มอีก 3 แห่งเพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้ามาแล้วก็สามารถเติมน้ำจืดลงไป” 

                ด้าน สมปอง นุชนงค์ กำนันตำบลทองมงคล อ.บางสะพาน ยอมรับว่าชาวบ้านต้องการให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณนี้มากว่า 40 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี 2517 หลังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ที่ล่าช้ามาจากปัญหาการเมือง ขณะที่ชาวบ้านต่างมีความยินดีเสียสละที่ดินให้ ตนเองในฐานะผู้นำท้องถิ่นก็ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง  เพราะถ้าโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านไทรทองก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ให้แก่ชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่กว่า 9,000 รายได้รับอานิสงส์จากอ่างฯ นี้และยังช่วยชะลอน้ำท่วมในพื้นที่บางสะพานได้เป็นอย่างดี  

 

              เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวในรายการ “เรดิโอไทยแลนด์” ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ถึงแผนป้องกันน้ำท่วม อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า บางสะพานเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ลุุ่ม ฝั่งซ้ายติดกับทะเล ฝั่งขวาติดตะนาวศรี เมื่อมีฝนตกหนักเป็นเวลานานก็จะเกิดน้ำท่วมในฉับพลันและน้ำยังไหลเร็วและแรง กรมชลประทานได้มีแผนพัฒนาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามโรดแม็พอยู่แล้ว หากการดำเนินการเป็นไปตามแผนคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของ อ.บางสะพาน ได้เป็นอย่างดี

                 “ตอนน้ำท่วมใหญ่ มกราคม ปี 60 ผมก็ติดอยู่ในเหตุการณ์ด้วย น้ำท่วมสูงมาก ในโรงพยาบาลท่วม 2 เมตรกว่า พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก  หลังจากนั้นกรมชลฯ ก็รีบไปสำรวจตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ปรากฏว่าทางด้านบนไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำเลย มีแต่อ่างเก็บน้ำเล็กๆ รวมแล้วไม่เกิน 3 ล้านลบ.ม. แต่น้ำที่มาเกือบ 50 ล้านลบ.ม. แต่ทำอย่างไรจะรับน้ำได้ทีละมากๆ ก่อนออกทะเล จึงได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ที่จริงตามแผนแม่บทของกรมชลฯ ได้วางไว้หมดแล้ว ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งไว้ในปี 2549 เพียงแต่ติดปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้”

                อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมชลประทานเผยอีกว่า สำหรับแม่น้ำบางสะพานนั้น ถือเป็นแม่น้ำสายหลักที่ผ่านตัวอำเภอบางสะพาน มีการรุกล้ำ ทำให้แคบลง ประกอบกับมีตะกอนดินทับถมทำให้ตื้นเขิน จึงเป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานก็ได้ดำเนินการอย่างเร่งเด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนที่อ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการจะแล้วเสร็จในปี 2564         

                 “มีการประชุมร่วมกับทางจังหวัดทุกเดือน และท่านองคมนตรีก็มาติดตามงานและได้สั่งกำชับในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการขุดลอกแม่น้ำบางสะพาน ถ้าแม่น้ำบางสะพานไหลโดยสะดวกก็จะลดความเสียหายลงได้ ตอนนี้ขุดลอกไปได้ 4 กม.แล้ว ก็ซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำบางส่วนที่ชำรุด อย่างตุลาคมปีที่แล้วฝนตกหนักรุนแรง แต่น้ำผ่านไปได้ นครศรีฯ ท่วม เพชรบุรีก็โดน ปรากฏว่าบางสะพานรอด” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวทิ้งท้าย 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ