ข่าว

ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม“ซีแอลเอ็มวี”ตอน10

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย- รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ

 

       ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

  จากการไปเก็บข้อมูลงานวิจัยศักยภาพด้านการเกษตรและอาหารในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสพบ ดร.เมา มิเน ลูกศิษย์ชาวกัมพูชาซึ่งเคยมาเรียนที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ปริญญาเอกเกษตรเขตร้อนที่เน้นงานวิจัยด้านการส่งเสริมการเกษตรกลับไปกัมพูชาเรียบร้อย 

   ปัจจุบัน ดร.เมา มิเน ดำรงตำแน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรของกัมพูชา ดังนั้นการมาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้สนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านงานส่งเสริมการเกษตรในประเทศกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี ด้วยกัน 

   ในความเป็นจริงแล้วงานส่งเสริมการเกษตรนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อภาคการเกษตรเพราะถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านเกษตรได้มีโอกาสใช้ความรู้ เทคโนโลยีและงานวิจัยในการทำการเกษตรให้ได้ผลดีมีคุณภาพ รวมถึงมีรายได้ที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของงานส่งเสริมการเกษตร ซึ่งระบบการส่งเสริมการเกษตรในกัมพูชานั้นจริงๆ แล้วก็มีลักษณะคล้ายๆ กับของไทยเราอยู่ คือมีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงเป็นหน่วยงานสูงสุดและมีกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่งานส่งเสริมโดยตรง 

    แต่จะมีหน่วยงานย่อยและบุคลากรในดับพื้นที่ที่ค่อนข้างน้อยและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นการทำงานส่งเสริมการเกษตรในกัมพูชานักส่งเสริมการเกษตรก็จะทำงานค่อนข้างหนัก ยิ่งด้วยสภาพพื้นที่และถนนหนทางที่ยังไม่ค่อยดีนักจึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญ

     อีกอย่างหนึ่งในด้านของงบประมาณสนับสนุนด้านการเกษตร กัมพูชาเองยังได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมากจากองค์กรต่างประเทศรวมถึงบุคลากรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ซึ่งในวันที่ผมไปก็ยังพบเห็นชาวต่างประเทศเดินไปมาอยู่ในกระทรวงค่อนข้างหนาตา ส่วนสื่อหลักๆ ที่ใช้กันในการเผยแพร่ความรู้ก็ยังเน้นเอกสารและสิ่งพิมพ์กันเป็นหลัก ส่วนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรผ่านสื่อมวลชนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นมีน้อยมากส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะเรื่องการเมืองภายในประเทศ 

  ในกัมพูชาเองสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรจะขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ ของเขา ไม่เหมือนบ้านเราที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นสถาบันการศึกษาทางการเกษตรจึงทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและให้บริการวิชาการทางด้านการเกษตรควบคู่กันไปด้วย สุดแท้แต่ว่าจะมีความถนัดทางวิชาการด้านไหนและงบประมาณสนับสนุนมากน้อยเพียงใด 

   ซึ่งบางทีงานส่งเสริมการเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่สถาบันการศึกษาได้รับทุนมาจากต่างประเทศเพื่อทำงานและขยายผลในด้านของการรวมกลุ่มทางการเกษตรก็เริ่มมีเกิดขึ้นยังไม่ค่อยเป็นระบบระเบียบที่ชัดเจนนัก คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการพัฒนาระบบของงานส่งเสริมให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศกัมพูชาต่อไปในอนาคต 

  ในครั้งหน้าผมจะพาไปดูเรื่องของเกษตรและอาหารในเมืองหลวงพระบางเขตลาวเหนือว่าเป็นอย่างไรและมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้างต่อไปครับ!


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ