ข่าว

    ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

   เกษตรสร้างชาติ พัฒนา“ทายาทเกษตรกร4.0”   ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน

 

                 สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ไม่น้อย เมื่อนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนและพืชผักของชาวบ้าน เมื่อครั้งเดินทางมาตรวจราชการใน จ.นครปฐม และลงพื้นที่ทำกิจกรรมในโครงการไทยนิยมยั่งยืนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา 

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
             พื้นที่ ต.ทุ่งลูกนก แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรแนวใหม่ในระดับชุมชนที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จจากโครงการ "พัฒนาสมรรถนะเกษตรกร (Smart Farmer) เป็นผู้นำการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรเชิงพื้นที่แบบองค์รวม ในยุค 4.0” ดำเนินการโดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สฝ.มก.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างชุมชน โรงเรียนและภาคเอกชน ตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการประชารัฐ 
              มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้เข้ามาส่งเสริมชุมชนทำเกษตรพอเพียงแบบมีส่วนร่วมตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ภายใต้สโลแกน “เกษตรสร้างชาติ พัฒนาทายาทเกษตรกร ไปสู่ประเทศไทย 4.0” เพื่อพัฒนาอาชีพของท้องถิ่นและสนับสนุนทายาทเกษตรกร โดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชาในการเข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา ผสมผสานกับองค์ความรู้ "ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ครู เกษตรกร และทายาทเกษตรกร ในเรื่อง “ระบบเกษตรปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพและรายได้

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
             รศ.ชูเกียรติ รักซ้อน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดเผยต่อ “คม ชัด ลึก” ว่า ปัจจุบันสภาพการเกษตรของประเทศไทยเป็นเหมือนไม้ล้ม และไม้เลี้ยง คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายผลผลิตเอง จึงจำต้องพึ่งพานโยบายที่รัฐให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น การทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น เกษตรกรมีความจำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะหรือความสามารถในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทเกษตรกร ซึ่งเป็นกำลังของประเทศให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการดำรงชีวิตที่ผาสุก โดยมีวิถีเกษตรเป็นฐาน
             “เราใช้แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันในชุมชน แล้วจึงส่งเสริมร่วมกับชาวชุมชน เครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาด้วยการจัดการเรียนรู้ของเกษตรกรและทายาทเกษตรกร เรื่อง “ระบบเกษตรปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างหรือนำการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางและลักษณะที่พึงประสงค์ขององค์กร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในเบื้องต้นได้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา และจะขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียงต่อไป”

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
              ขณะที่ ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในฐานะหัวหน้าโครงการ ยอมรับว่า พื้นที่บริเวณนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพดฝักอ่อน รับจ้างกรีดข้าวโพด เลี้ยงโคนม ทำไร่อ้อย และกระชาย ทำให้ง่ายในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริม เพื่อใช้ในการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต พร้อมหาพืชผักมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่และการตลาดด้วย ซึ่งจากการวิเคราะห์ชุมชนร่วมกัน จึงได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 ซึ่งเป็นข้าวโพดพันธุ์ไม่ถอดยอด มีรสชาติหวานอร่อย ใบนิ่ม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจากการปฏิบัติจริง 
               โดยสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมได้มีการจัดทำแปลงทดสอบเพื่อเรียนรู้คุณสมบัติของพันธุ์ วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน วิธีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกหลักวิชาการให้แก่ชุมชน และจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่ทายาทเกษตรกรด้านการทำเกษตรปลอดภัย อบรมการทำเตาไบโอชาร์ ซึ่งสามารถนำถ่านไบโอชาร์ที่ได้จากการเผาไหม้มาปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว แปลงปลูกข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 และโรงเพาะเห็ดนางรมดำให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อผลในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนา การสร้างโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจ ทำให้มีความมั่นคง สันติสุข และยั่งยืนในอนาคต 
              “หลักการทำงานของเราก็คือในชุมชนเรามีโรงเรียน เรามีบ้านและครัว เราจะสร้างแหล่งอาหารในชุมชนที่เพียงพอกับความต้องการของคนในชุมชน เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการในเบื้องต้น ก่อนจะผลิตเพื่อขายเป็นรายได้แก่ครอบรัว เราจะสร้างทายาทเกษตรกรตั้งแต่ในโรงเรียนเพื่อให้เขาได้ซึมซับงานเกษตรกรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนจะก้าวไปสู่อาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัวในอนาคตข้างหน้า นี่คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของโครงการ” หัวหน้าโครงการ กล่าว
                 ผศ.ดร.สุรพล กล่าวย้ำว่า โครงการนี้แม้ว่าจะดำเนินงานในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรสมััยใหม่ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์เป็นรากฐานสำคัญสำหรับภาคการเกษตรของประเทศในอนาคต โดยผลิตผลจากแปลงผักสวนครัว แปลงข้าวโพด และเห็ด ส่วนหนึ่งได้นำมาทำเป็นอาหารกลางวัน ที่เหลือก็จะนำไปจำหน่ายที่ตลาดในชุมชนเพื่อนำมาเป็นทุนหมุนเวียนต่อไป 
                “ในอนาคตจะขยายผลโครงการไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ รวมถึงโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง โดยการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะบริษัทเจียไต๋ ที่ได้ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักฟรีและยังส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลแนะนำให้เด็กๆ อย่างต่อเนื่อง เราต้องการยกระดับให้ที่นี่เป็นโมเดลของที่อื่นๆ เป็นต้นแบบในการพัฒนาเกษตรกรในยุค 4.0 ด้วย” หัวหน้าโครงการกล่าวย้ำ  

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
              ด้าน ศมาพร หลากสุขถม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ให้โอกาสบริษัท เจียไต๋ จำกัด มาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนโครงการจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของบริษัทในการร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาภาคเกษตรกรไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคตด้วย
               “เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์มาก เด็กที่มาร่วมมาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ ตัวอาจารย์เองก็พร้อมให้การสนับสนุนและผู้ปกครองสนับสนุนด้วยไม่ใช่อยู่ดีๆ มาให้เด็กทำ ทำให้โครงการสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วและยังได้เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างชัดเจนว่าเขาวิ่งเข้าช่วยกัน มีความสามัคคี อยากเห็นผลงานจากที่ลงทุนลงแรงไป ก็ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนศาลาตึกวิทยา ที่ให้โอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้วย” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวทิ้งท้าย
 ข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์“เกษตรศาสตร์3”ทางเลือกใหม่  

                วันนา คันซอย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 บ้านหนองจิก ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน ซึ่งเป็นเกษตรกรอาสาในการนำข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 มาทดลองปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ 1 งาน เพื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์เดิมที่เคยปลูกของบริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์รายหนึ่ง ก็ยอมรับว่าเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี เกสรก็ไม่ฟุ้ง แทบไม่ต้องถอดยอดและผลผลิตก็ออกมาดี ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง โดยรุ่นแรกได้ผลผลิตประมาณ 10 กว่าตัน ส่วนต้นได้ประมาณ 20 กว่าตัน เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารโคที่เลี้ยงไว้
               “เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 กับแปซิฟิก 321 กับ 271 เกษตรศาสตร์ 3 น้ำหนักดีกว่า ผลผลิตเยอะกว่าแล้วกรีดก็ง่าย ฝักสวยได้มาตรฐาน อยากให้กรมส่งเสริมฯ ได้มาส่งเสริมเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง พันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 ตอนนี้ก็เริ่มปลูกกันเยอะแล้วประมาณ 20 ราย แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะพ่อค้าไม่ยอมรับ เขาบอกว่าเกษตรศาสตร์ 3 ฝักมันใหญ่ไป”

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
               วันนา ยอมรับว่าการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนจะไม่ค่อยมีปัญหาโรคแมลงมารบกวน ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 50 วัน ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ 3-4 ครั้ง ซึ่งก็เป็นพืชที่ทำรายได้ดี ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝักอ่อนนำมาขาย ส่วนต้นก็จะเป็นอาหารโค ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีการเลี้ยงโคกันแทบจะทุกครัวเรือน
               “ต้นทุนอยู่ที่ 3-4 พันต่อไร่ รายได้ก็ประมาณ 6-7 พัน ถ้าอยู่ในช่วงราคาดีๆ ถึงหมื่นก็มี การดูแลเป็นพิเศษจะอยู่ในช่วงที่ข้าวโพดถอดยอดต้องให้น้ำบ่อยๆ ผลผลิตจะดี การใส่ปุ๋ยควรใส่รองพื้นก่อนปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกก็จะดีมากๆ ต้นจะงามและผลผลิตจะได้ดี ตอนนี้มีปัญหาเดียวคือตลาด กำลังให้อาจารย์ติดต่อให้อยู่ ถ้ามีตลาดรองรับตอนนี้มีคนอยากปลูกเยอะมาก” เกษตรกรคนเดิมเผย

จากต้นกล้าเกษตรสู่เกษตรกรต้นแบบ

           อาจารย์อรรฐพนธ์ ศรีโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาลาตึกวิทยา ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่าสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ได้เห็นพัฒนาการการทำงานของนักเรียน แต่ที่ผ่านมาไม่มีเงื่อนไขให้นักเรียนทำ โครงการนี้จึงเป็นโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน จะเกิดประโยชน์แก่นักเรียนอย่างแน่นอน ส่วนนักเรียนจะได้อะไรบ้าง สิ่งที่เรามองเห็นก็คือเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่อยู่ในห้องมาอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง นี่คือความสุขและมีความรับผิดชอบ ทำให้เขาใช้เวลาว่างที่เกิดประโยชน์กับตัวเขาเอง ส่วนความยั่งยืนในระยะยาวมองว่าจะต้องบรรจุอยู่ในการเรียนการสอน เช่น มีกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เราก็จะเอากิจกรรมนี้บรรจุลงไปหรือในรายวิชาเกษตรแทนที่จะพื้นที่เกษตรแค่เล็กๆ หลังห้อง เพื่อให้ประเมินผ่าน ตอนนี้เราสร้างพื้นที่แปลงใหญ่ให้เด็กลงมือทำกันจริงๆ ได้รับผลอย่างจริงจัง และอย่างน้อยเมื่อเขากลับไปบ้านก็จะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ที่บ้านด้วย

     ยกระดับ“ทุ่งลูกนก"โมเดลสู่ไทยนิยมยั่งยืน
                 “เมื่อก่อนเราทำกระถางปลูกต้นไม้ ปลูกผักตามที่ทางโรงเรียนกำหนด แต่ต่อไปเราจะมอบกระถางนักเรียนคนละใบไปให้เขาคิดกันเองว่าจะปลูกอะไร ตอนนี้เด็กนักเรียนทุกคนเปรียบเสมือนต้นกล้าเกษตรกร แต่หลังจากเขาจบไปแล้วก็จะเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว เพราะเขาได้เรียนรู้จากตรงนี้ไปอย่างเต็มที่แล้วสามารถเอาความรู้ไปใช้ได้เลย” ผอ.โรงเรียนศาลาตึกวิทยา กล่าว 
                ด.ญ.กรรธิชา ประเสริฐผล นักเรียนชั้น ม.1/1 โรงเรียนศาลาตึกวิทยา ซึ่งเป็นประธานกลุ่มพัฒนาทายาทเกษตรกรกลุ่มที่ 5 บอกว่า รู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ได้เรียนรู้การปลูกผักหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว เป็นต้น โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนในการลงพื้นที่มาดูแลแปลงเกษตรที่รับผิดชอบ 
                “กลุ่มของหนูมี 5 คน ก็จะสลับเวรกันมาดูแล รดน้ำทั้งในช่วงเช้าและเย็นแล้วก็วันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย การดูแลก็ไม่ยาก เพราะมีพี่ๆ จากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ มาคอยช่วยแนะนำแล้วก็ที่บ้านหนูก็ทำไร่ข้าวโพดและปลูกผักสวนครัวอยู่แล้ว ก็จะนำความรู้ตรงนี้ไปทำที่บ้านด้วย” ด.ญ.กรรธิชาเผย พร้อมกล่าวว่า นอกจากได้เรียนรู้การทำเกษตรอย่างถูกวิธี ยังได้ผลผลิตนำกลับไปรับประทานที่บ้านด้วย
                 เช่นเดียวกับ ด.ญ.วิว อ่ำบังยง นักเรียนชั้นม.1/2 โรงเรียนศาลาตึกวิทยา ซึ่งเติบโตมาจากครอบครัวที่มีอาชีพปลูกข้าวโพดฝักอ่อนและปลูกผัก กล่าวว่า ขอบคุณทางโรงเรียนที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งนักเรียน ครูและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำความรู้มาสอน มาถ่ายทอด แนะนำเทคนิคใหม่ๆ ให้แก่พวกเรา รวมทั้งยังพาไปเยี่ยมการทำเกษตรนอกสถานที่ด้วย
                “ชอบมากค่ะ สนุก ได้รู้เทคนิคใหม่ที่อาจารย์มาแนะนำ อย่างเช่นก่อนปลูกผักก็จะมีการวัดค่าดินว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง วิธีการป้องกันโรคและแมลงโดยวิธีตามธรรมชาติ การหาเศษไม้ที่ไร้ค่ามาทำไบโอชาร์ ก็อยากให้มีโครงการแบบนี้มีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่ะ” ด.ญ.วิว กล่าวอย่างภูมิใจ
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ