ข่าว

ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม“ซีแอลเอ็มวี”ตอน9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ

 

             ต่อจากเสาร์ที่แล้ว 

           เรื่องของการเกษตรและอาหารในพนมเปญที่เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา นับว่ามีความน่าสนใจในหลายๆ เรื่องเท่าที่ทีมวิจัยเราได้ไปประสบพบมา อย่างเช่นเรื่องสินค้าเกษตรทั่วไป เกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปสังเกตการณ์ด้วยการเดินตลาดสินค้าเกษตรที่ขายพืชผลทางการเกษตรที่มีการผลิตแบบปกติทั่วไปในกรุงพนมเปญ และได้พบเห็นว่าความต้องการสินค้าเกษตรพวกพืชผักต่างๆ นั้นมีความต้องการในการบริโภคอยู่ในระดับมาก ซึ่งกัมพูชาเองมีพื้นที่ในการผลิตพืชผักน้อย  สวนทางกับพืชไร่ซึ่งมีพื้นที่ในการผลิตมาก 

        ส่วนการขนส่งกระจายพืชผักในกัมพูชาค่อนข้างไม่มีระบบการขนส่งที่มีรูปแบบชัดเจน โดยใช้พาหนะทุกอย่างตั้งแต่รถสามล้อ รถบรรทุก รถตู้ แม้กระทั่งรถโดยสารขนส่งเพื่อกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งดูแล้วก็ง่ายดีแต่อาจจะขาดเรื่องมาตรฐานการขนส่งไปหน่อยครับ 

        อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าพืชผักเพื่อการบริโภคนั้นส่วนหนึ่งกัมพูชานำเข้าจากไทยและเวียดนาม ซึ่งระยะทางจากพนมเปญไปเวียดนามและไทยก็มีระยะทางไม่ไกล จึงมีความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรแบบง่ายๆ สบายๆ ส่วนพืชผักปลอดภัยและอินทรีย์ในกัมพูชาก็เป็นสินค้าที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอีกกลุ่มที่มีความต้องการชัดเจน ซึ่งหน่วยงานทางการศึกษาอย่าง Royal University of Agriculture หรือ RUA ก็ได้มีโครงการสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ มีเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรเข้าร่วมโครงการพอสมควร แต่ปริมาณการผลิตยังมีไม่มาก เพราะใช้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นราคาพืชผักปลอดภัยจึงสูงตามไปด้วย 

       ก็เป็นโอกาสของผู้ผลิตผู้ประกอบทั้งในและต่างประเทศอีกเช่นกันที่จะมาประกอบการผลิตพวกสินค้าเกษตรปลอดภัยหรือไปถึงมาตรฐานอินทรีย์เพื่อการบริโภค สินค้าเกษตรอีกประเภทหนึ่งที่ชาวกัมพูชาภูมิใจนำเสนอในตลาดพนมเปญก็คือทุเรียนจากเมืองกำปอด ซึงเขาว่ากันว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดีเหมือนกับทุเรียนแถบจันทบุรีและระยอง ลูกโตสวยพอกัน แต่คนที่นี่บอกอร่อยกว่า เราจึงพยายามที่จะหามาชิมกันให้ได้ไม่งั้นเสียเที่ยวแน่ 

       แต่ทุเรียนที่ว่านี่ไม่ใช่จะซื้อตามตลาดข้างทางทั่วไปได้ ต้องไปซื้อจากร้านที่ขายโดยเฉพาะเท่านั้น แต่เนื่องจากเราไปถึงเย็นเกินไปร้านปิดจึงอดไปตามระเบียบ แต่ถ้าฟังชาวกัมพูชาพูดก็คงอร่อยจริงครับเพราะราคาใกล้เคียงกับหมอนทองบ้านเราถ้าเทียบกัน นอกจากทุเรียนกำปอดแล้วพริกไทยที่นี่ก็เป็นสินค้าเกษตรที่เป็นหน้าเป็นตาของคนกัมพูชาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคุณภาพดีและยังเป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปทั่วโลกและยังมีต้องการจากประเทศทางยุโรปค่อนข้างสูง 

       จะว่าไปแล้วด้วยการถูกรับรู้ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาก็ทำให้กัมพูชาได้โอกาสและประโยชน์ทางการเกษตรค่อนข้างมากทั้งในแง่การพัฒนาการผลิตทางการเกษตรจากองค์กรต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศ และสิทธิพิเศษหลายๆ อย่างในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังต่างประเทศ 

       สำหรับช่วงท้าย ๆ ที่อยู่ในกัมพูชาผมได้มีโอกาสไปพบ Dr.Mao Minea ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรับผิดชอบดูแลเรื่องของการส่งเสริมการเกษตรในกัมพูชา ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ!

                                                          .................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ