ข่าว

สทนช.รุกวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งและระดับน้ำในแม่น้ำโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สทนช.รุกวางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งและระดับน้ำในแม่น้ำโขง

            วันนี้ (15 มี.ค. 61) ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์แม่น้ำโขง พร้อมหาแนวทางแก้ไข  
           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านน้ำของประเทศเป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีคำสั่ง ที่ 4/2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นรองประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำทั้งหมดเป็นคณะอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ อำนวยการ ควบคุมและสั่งการ การบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก หรือในระยะที่มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาผลกระทบที่เกี่ยวกับน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภัยอันเกิดจากน้ำทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต 
            โดยที่ประชุมวันนี้ มีการพิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ทั้งการวางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเน้นการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้ปัจจุบัน ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศทั้ง 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างดี คือ มีมากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการกักเก็บก็ตาม แต่ก็ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อีกประมาณ 24 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเหลือต่ำกว่าร้อยละ 30 โดยเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตรแล้ว 74 อำเภอ ในพื้นที่ 23 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
             นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องของ สทนช. พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปรากฏให้เห็นหาดทรายและโขดหินไปทั่วบริเวณ ทำให้เรือสินค้าจำนวนมาก ไม่สามารถเดินเรือจากประเทศจีนมายังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณฝนลดลง และเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีนได้ลดการระบายน้ำลงจากเดิมที่เคยระบายน้ำกว่า 1,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เหลือเพียง 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รับการรายงานว่า เขื่อนจิ่งหงในประเทศจีนมีการระบายน้ำเพิ่มเป็น 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นคาดว่าจะสามารถเดินเรือได้สะดวกขึ้น
             “ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง หรือสถานการณ์แม่น้ำโขงจำเป็นจะต้องแก้ไข ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้การทำงานแก้ไขปัญหาสัมฤทธิ์ผลตามนโยบายของรัฐบาล” เลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ