ข่าว

สศก.ร่วมเวที RCEP-TNC  ดันสินค้าเกษตรส่งออกสมาชิก 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สศก.ร่วมเวทีเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP-TNCอินโดนีเซีย ดันสินค้าเกษตรส่งออกประเทศ 

             7 มี.ค.61 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 21 ซึ่ง สศก. ในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมเจรจาภายใต้คณะทำงานการค้าสินค้า (Trade in Goods) เพื่อพิจารณารูปแบบและรายการสินค้าเกษตรของไทยทั้งรายการที่สามารถเปิดตลาดและสินค้าอ่อนไหวภายใต้ความตกลง RCEP  ที่ประเทศอินโดนีเซีย

           โดยกล่าวว่า ฝ่ายไทย  มีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น พร้อมด้วยประเทศสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียน (ASEAN FTA Partner: AFP) รวม 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

           การประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิก RCEP ได้ยื่นข้อเสนอรายการปรับปรุงการเปิดตลาด (Improved Second Offer) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาด มากกว่าร้อยละ 90 คือ ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และจีน  2) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาดอยู่ระหว่าง ร้อยละ 85-89 คือ ไทย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และญี่ปุ่น และ 3) ประเทศที่มีสัดส่วนการเปิดตลาดน้อยกว่าร้อยละ 84 คือ เวียดนาม และอินเดีย อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้อาเซียนได้เร่งผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้ามากยิ่งขึ้นที่ร้อยละ 92 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดและมูลค่าทั้งหมด ซึ่งประเทศสมาชิกได้มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายให้เข้าใกล้ระดับการเปิดตลาดสินค้าตามข้อเสนออาเซียน

           หากพิจารณาเฉพาะรายการสินค้าเกษตรที่ประเทศคู่เจรจา RCEP เปิดตลาดให้ไทย พบว่า มีสินค้าที่สามารถเปิดตลาดมากกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 ดังนี้ อินเดีย (สินค้าชา) ญี่ปุ่น (สินค้าประมง ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันเมล็ดพืช ไหม) เกาหลีใต้ (สินค้าประมง เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง) นอกจากนี้ อาเซียนได้ยื่นข้อเสนอรูปแบบการเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวส่วนที่เหลือร้อยละ 8   ให้ประเทศสมาชิก RCEP พิจารณา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหารือร่วมต่อไป  

            สำหรับการประชุม RCEP นับได้ว่าเป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ และเป็นความตกลงแบบองค์รวม (Comprehensive Agreement) ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุม เรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ในการค้าต่าง ๆ มีเป้าหมายเร่งการเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกันให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าภายใต้ความตกลงสูงกว่าความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+1 และผลักดันให้ไทยเร่งพัฒนาศักยภาพและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิก

           ทั้งนี้ สศก. จะผลักดันให้สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของไทย (อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ กุ้ง น้ำตาล สินค้าแปรรูป) สามารถขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้มากขึ้น โดยลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน สำหรับสินค้าอ่อนไหว ที่ไทยอาจได้รับผลกระทบหากเปิดตลาดจะทยอยลดภาษีโดยให้มีระยะเวลาการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปิดตลาดในอนาคตหรือขอสงวนการเปิดตลาดต่อไป โดยการประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 22 จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ