ข่าว

"มกอช."ปั้นคลื่นเกษตรลูกใหม่ดันแปลงใหญ่สู่GAP

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มกอช."ปั้นคลื่นเกษตรลูกใหม่ดันเยาวชนเกษตรแปลงใหญ่ก้าวสู่มาตรฐาน GAP สานต่ออาชีพ“โรงคัดบรรจุ”ชุมชนสนองนโยบายเกษตรแปลงใหญ่-พัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน 

          6 มีนาคม 2561 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยโครงการฝึกอบรมผู้นำการมาตรฐาน (Standard Smart Leader: SSL) รุ่นที่ 2 จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาคลื่นเกษตรลูกใหม่ (New Agricultural Wave)” กลุ่มผลิตผักปลอดภัยตะแบกงาม ต.เขาคีรีส อ.พรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้โครงการพัฒนาเชิงบูรณาการพื้นที่ทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบมาตรฐาน โดยมีกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่และเยาวชนในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรเขตปฏิรูปที่ดินตะแบกงามรวมใจพัฒนา จำกัด สมาชิกกลุ่มต้นน้ำ โครงการ SSL รุ่นที่ 2 และเจ้าหน้าที่ มกอช. ร่วมอบรม  ณ โรงแรมหรรษนันท์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

          นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายุวชนเกษตรกรแปลงใหญ่ให้มีความสามารถในการเป็นผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น รวมทั้งพัฒนาทักษะการทดสอบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชจากระดับแปลงและโรงคัดบรรจุ และการจัดทำระบบทวนสอบสินค้าโดยใช้ระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) ผ่านระบบตามสอบ (QR Trace) ของ มกอช. โดยเครือข่าย Q-อาสา ซึ่งเป็นตัวแทนสื่อกลางเพื่อเชื่อมโยง ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการมาตรฐาน

          "มกอช."ปั้นคลื่นเกษตรลูกใหม่ดันแปลงใหญ่สู่GAP

           ทั้งนี้การพัฒนา “คลื่นเกษตรลูกใหม่” ในพื้นที่นำร่องเกษตรกรแปลงใหญ่กลุ่มตะแบกงาม ต.เขาคีรีส อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร เป็นการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาการขาดแคลนผู้ประกอบการอาชีพภาคเกษตรของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว ที่เป็นต้นแบบหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด และได้ริเริ่มการทำเกษตรที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้ปฏิบัติงานและสร้างความยั่งยืนให้แก่พื้นที่ผลิตมากว่า 15 ปี จนกระทั่งปัจจุบันพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชนและมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงคัดบรรจุชุมชนให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ (GMP) 
          “จากการลงพื้นที่ผลสำรวจในช่วงเดือน มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ในชุมชนตะแบกงาม เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ขณะที่เกษตรกรรุ่นใหม่หรือเยาวชนขาดความรู้ด้านมาตรฐานและประสบการณ์การทำเกษตร รวมทั้งขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทดสอบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืช และการทวนสอบสินค้า ทำให้กิจกรรมพัฒนาคลื่นเกษตรลูกใหม่ของ มกอช. ที่รวบรวมองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติในครั้งนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานของชุมชนได้เป็นอย่างดี”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
           นางสาวเสริมสุข กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เชิงบูรณาการ พื้นที่บ้านตะแบกงาม เป็นการตอบสนองความต้องการที่สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมทางการผลิตและวิถีชีวิต ตลอดจนถึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรตอบสนองการบริหารกิจการ วางแผนการผลิต เพื่อที่จะได้ขยายช่องทางจำหน่ายผลผลิตไปยังโมเดิร์นเทรดและตลาดค้าส่งที่มีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง

          "มกอช."ปั้นคลื่นเกษตรลูกใหม่ดันแปลงใหญ่สู่GAP

          ก่อนหน้านี้มกอช.ได้ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาโรงคัดบรรจุมาตรฐาน ที่ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงคัดบรรจุด้านการจัดการและบริหารเอกสารระบบคุณภาพ และกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคสินค้ามาตรฐาน ที่ผ่านการศึกษาข้อมูลกลุ่มเป้าหมายการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่จำหน่ายสินค้าของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ตะแบกงามแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

            โดยหลังจากสิ้นสุดการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเชิงบูรณาการระยะแรก โครงการฝึกอบรมผู้นำการมาตรฐานของ มกอช. จะส่งต่อภารกิจให้ตัวแทนผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงาน เพื่อร่วมติดตามและรายงานผลสัมฤทธิ์ในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้พัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการบริหารการผลิต คัดบรรจุ และการทำการตลาดอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2561 ได้แก่ ด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน และการส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ต่อไป 
           นางสาวณมาพร อัตถวิโรจน์  นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ สำนักกำหนดมาตรฐาน มกอช. กล่าวว่า กิจกรรมในการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ได้แก่ กิจกรรมสัมพันธ์และชี้แจงรูปแบบการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ตามโครงการการพัฒนาคลื่นเกษตรรุ่นใหม่ การอบรมให้ความรู้การผลิตพืชผักปลอดภัย GAP และการรับรองมาตรฐาน การอบรมการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างโดยใช้ Test Kit การอบรมตรวจประเมินแปลง GAP ด้วย Check List รวมทั้งการสาธิตการทำระบบตามสอบ (QR Trace) ระดับแปลง

           นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมศึกษาดูงานการผลิตผักปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน ณ ร้านเรนฟอเรสท์ ซึ่งเป็นร้านอาหารในโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย เลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) และการลงพื้นที่ฝึกตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น (Pre Audit) อย่างไรก็ตาม จะสรุปบทเรียนสิ่งที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป

          "มกอช."ปั้นคลื่นเกษตรลูกใหม่ดันแปลงใหญ่สู่GAP

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ