ข่าว

ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม“ซีแอลเอ็มวี”ตอน6

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected] 

         ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

        การเดินทางในครั้งนี้มีเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นทีมวิจัยเราจึงมีโอกาสพักค้างที่กำปงจามเพียงหนึ่งคืน ซึ่งเมืองกำปงจามนั้นมีลักษณะทางภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการทำการเกษตรมาก เนื่องจากกัมพูชามีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางประเทศ ซึ่งแตกต่างจากไปจากไทยเราที่แม่น้ำโขงไหลเลียบแนวชายแดนเพียงด้านเดียว ด้วยลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เกษตรกรกัมพูชาในเมืองกำปงจาม จึงสามารถทำการเกษตรได้อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำที่จะใช้ทำการเกษตร 

        ระหว่างทางช่วงออกจากกำปงจามบริเวณสองข้างทางมุ่งสู่เมืองหลวงพนมเปญ เกษตรกรจะมีการปลูกข้าว ข้าวโพด มะม่วงแก้วขมิ้น ยางพาราและมะม่วงหิมพานต์ ตลอดสองข้างทางและส่วนใหญ่จะกินพื้นที่ค่อนข้างมากและปลูกกันไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งบางครั้งก็เกินความจำเป็น บางช่วงจึงต้องขายถูกและทิ้งกันบ้างก็มี เกษตรกรในกัมพูชาก็เป็นแบบนี้ครับไม่เฉพาะในไทยเรา 

        อย่างเช่นมะม่วงแก้วขมิ้นที่เหล่าคนไทยจะรู้จักกันเป็นอย่างดีในลักษณะของมะม่วงแก้วลูกเหลือง ๆ โต ๆ ที่ขายกันตามร้านขายของดองลูกละ 15-20 บาท หรือถ้าซื้อกันในห้างสรรพสินค้าชั้นนำก็อาจจะสูงกว่านั้น แถบกำปงจามปลูกกันค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความต้องการจากไทยและเวียดนามเรียกได้ว่าเป็นความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านจริง ๆ 

        แต่วิธีการการซื้อของพ่อค้าไทยและพ่อค้าเวียดนามจะมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร จริงๆ แล้วก่อนได้คำตอบเรื่องการซื้อมะม่วงจากคนกัมพูชานี่ ผมก็เดาไปสารพัดแต่ก็ไม่ถูกหรอกครับ พ่อค้าเวียดนามนี่เวลาซื้อมะม่วงจะเดินทางมาที่สวนเพื่อคัดเลือกมะม่วงเอาเฉพาะขนาดและความแก่ที่ตนเองต้องการจริง ๆ เรียกได้ว่ามาเลือกกันถึงต้นและเก็บกันไปเองขนใส่รถจ่ายเงินและนำกลับประเทศ เพราะฉะนั้นราคาที่ซื้อไปก็เป็นราคาแบบหนึ่ง 

      ส่วนพ่อค้าไทยส่วนใหญ่รออยู่ที่เมืองไทยครับ โดยจะให้ทางกัมพูชาเก็บมะม่วงใส่รถแล้วขนส่งไปที่ไทย นึกภาพกันออกแล้วนะครับว่ามะม่วงที่เก็บใส่รถไปนี่จะมีทุกขนาดทุกสภาพปน ๆ กันไป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าไทยก็จะไปรอคัดเลือกกันอีกทีบริเวณชายแดน ซึ่งก็จะเลือกเอาเฉพาะลูกที่ได้คุณภาพตามที่ตนเองต้องการ ส่วนลูกที่ไม่ผ่านการคัดเลือกทำอย่างไร เป็นคำถามต่อไปว่าแล้วมะม่วงที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะไปไหนต่อ ขายถูกกว่าหรือขนกลับประเทศ คำตอบจริง ๆ ง่ายกว่านั้นครับ ง่ายมากครับก็หาที่ทิ้งแถวบริเวณชายแดน แล้วขนสินค้าอื่นกลับกัมพูชาดีกว่าขนของเสียที่ไม่ต้องการกลับประเทศไปอีก 

      ดังนั้นจึงมีผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกทิ้งในแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย ส่วนพืชสำคัญอย่างข้าวและข้าวโพดจะปลูกกันเต็มพื้นที่ในบริเวณแถบนี้ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนสร้างโรงสีขนาดใหญ่และโรงงานบรรจุข้าวถุงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ 

      ซึ่งผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในครั้งหน้าครับ!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ