ข่าว

 เจาะลึกแผนจัดการน้ำรับ“อีอีซี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เจาะลึกแผนจัดการน้ำรับ“อีอีซี” กรมชลฯผนึก“อีสท์วอเตอร์-กปภ.”ลุย!

               จากการขยายตัวของเมืองภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด หรือโครงการอีอีซี ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2579 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 780 ล้านลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 312 ล้านลบ.ม.ต่อปี กรมชลประทาน ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค และอีสท์วอเตอร์ จึงได้วางแนวทางศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว  

             ประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานอธิบายว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำท่า 26,081 ล้านลบ.ม. สามารถเก็บกักได้ประมาณ 2,534 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 9 ของน้ำท่า โดยอยู่ในพื้นที่อีอีซีประมาณ 1,589 ล้านลบ.ม. และอยู่ในพื้นที่ชลประทานประมาณ 705.6 ล้านลบ.ม. ในจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งไปสนับสนุนพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศ  

               “คาดว่าความต้องการใช้น้ำในอีอีซีจะเพิ่มขึ้น ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 780 ล้านลบ.ม. ซึ่งตรงนี้กรมชลประทานมีแผนอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2560-2564 ระหว่างนี้การก่อสร้างจะดำเนินการไปเรื่อยๆ ก็จะเสร็จทันกันพอดี แต่ละโครงการใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง การวางแผนใช้น้ำในอีอีซี ประกอบด้วย 6 แผนหลัก คือปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำเดิม การสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำ การสูบน้ำกลับมาใช้ใหม่ การป้องกันน้ำท่วมและการใช้แหล่งน้ำเอกชนโดยร่วมกับอีสท์วอเตอร์ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มอีก 300 กว่าล้านลบ.ม.” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการเผยข้อมูล

                ขณะที่ เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้แจงรายละเอียดในส่วนของการปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำเดิม ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีอยู่ในพื้นที่ 7 แห่ง ได้แก่

              อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ หนองค้อ หนองปลาไหล บ้านบึง มาบประชัน คลองหลวง และคลองสียัด จะสามารถเพิ่มความจุได้ประมาณ 100 ล้านลบ.ม. โดยอ่างฯ คลองใหญ่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ส่วนอ่างฯ คลองสียัดจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2564 ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี โดยจะผันน้ำเข้ามาเติมที่อ่างฯ ประแสร์ ก่อนจะกระจายสู่พื้นที่อีอีซีต่อไป

                 “สำหรับการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำ จะมีีการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำมาสู่อ่างฯ บางพระ จะเห็นว่าอ่างฯ บางพระเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำสู่เขตอีอีซี ถ้าดูเป้าหมายของแต่ละจังหวัดจะเห็นว่าในฉะเชิงเทรา น้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือน้ำเพื่อผลิตประปา เพราะรัฐบาลวางฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัย ชลบุรีวางไว้เป็นแรงงานคุณภาพดี การค้นคว้าและวิจัยในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนระยองเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำพวกปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นภาพรวมการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด” เกรียงศักดิ์กล่าวย้ำ 

อีสท์วอเตอร์ผนึกกรมชลฯเดินหน้าเต็มสูบ 

             โชคชัย ทิวสุวรรณ ผู้จัดการแผนกวิศวกรรมวางแผน อีสท์วอเตอร์ เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเตรียมพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับโครงการอีอีซีว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งหมด 3 โครงการด้วยกันประกอบด้วยโครงการผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมมีระบบสูบน้ำอยู่แล้วตรงบริเวณเขื่อนบางปะกง โดจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสูบน้ำให้มีกำลังสูงขึ้น จากเดิมได้วันละ 1.8 แสนลบ.ม.ต่อวันเป็น 3 แสนลบ.ม.ต่อวัน ทำให้สามารถสูบน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าการดำเนินการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี 2562 โครงการต่อมาเป็นโครงการรับน้ำจากเอกชน โดยทางอีสท์วอเตอร์ได้วางท่อและระบบสูบน้ำเพื่อจะไปหาแหล่งน้ำเอกชนซึ่งเป็นบ่อดิน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ชลบุรี และระยอง ในส่วนนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้อีกเฉลี่ยปีละ 12 ล้านลบ.ม. บางส่วนเริ่มรับน้ำได้ในปีนี้(2561) และสามารถรับน้ำได้เต็มที่ในปี 2564 ส่วนโครงการที่ 3 เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดิบทับมา ในพื้นที่ จ.ระยอง

              โดยทางอีสท์วอเตอร์ได้เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาเป็นบ่อเก็บกักน้ำเพื่อดึงน้ำในฤดูฝนจากแม่น้ำระยองและคลองทับมามาเก็บกักไว้ ส่วนหนึ่งจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ระยองด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำได้อีก 47 ล้านลบ.ม.ต่อปี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 

              “นอกเหนือจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ทางอีสท์วอเตอร์ก็ยังร่วมกับกรมชลประทานในการจัดสรรน้ำเพื่อรองรองรับอีอีซี ซึ่งมีอยู่ 3 โครงการด้วยเช่นกัน คือโครงการแรกการขอจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี 20 ล้านลบ.ม. โครงการที่สองผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ประมาณ 50 ล้านลบ.ม. และโครงการที่ 3 การจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งผันมาจากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรีประมาณ 70 ล้านลบ.ม.เพื่อส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในโครงการอีอีซี.” ผจก.แผนกวิศวกรรมวางแผน อีสท์วอเตอร์กล่าวย้ำ

กปภ.ทุ่ม9.3พันล.เพิ่มปริมาณน้ำดิบ  

             มงคล ประสิทธิ์คุ้มเพียร หัวหน้าแผนกแผนงาน การประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 กล่าวกับ "คม ชัด ลึก" ถึงการเพิ่มปริมาณน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่โครงการอีอีซี ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ล้านคนในปี 2570 โดยในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคนั้นปัจจุบันมีสาขาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 อยู่ทั้งหมด 13 สาขา ประกอบด้วยชลบุรี 6 สาขา ระยอง 3 สาขา และฉะเชิงเทรา 4 สาขา มีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยปัจจุบันการให้บริการอยู่ที่ 8.5 แสนลบ.ม.ต่อวัน มีผู้ใช้น้ำรวมประมาณ 6 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 2.4 ล้านคน  

             มงคล เผยต่อว่า สำหรับแผนดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำดิบเพื่อรองรับโครงการรองรับอีอีซีนั้นมีทั้งหมดมี 5 โครงการ วงเงิน 9.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ  โดยระยะแรกลงทุนในปี 2561 จังหวัดละ 1 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 สำหรับโครงการ จ.ชลบุรี ขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทานในการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ จ.ชลบุรีตอนเหนือ ส่วนของ จ.ระยอง การประปาจะไปสร้างระบบประปาแห่งใหม่ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เพื่อที่จะรองรับการใช้น้ำใน จ.ระยอง รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาที่กำลังจะเกิดเมืองใหม่ขึ้นมา ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา จะไปสร้างที่ริมฝายท่าลาดเพื่อที่จะให้บริการพื้นที่ อ.พนมสารคาม อ.แปลงยาว รวม อ.บ้านโพธิ์ ที่จะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอนาคต

              “สำหรับโครงการระยะที่สองจะเริ่มในปี 2563 มีจำนวน 2 โครงการอยู่ใน จ.ชลบุรี ทั้งหมดเพื่อที่จะให้บริการในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมและเมืองพัทยาที่จะเติบโตมากขึ้น ซึ่งถ้าโครงการทั้งสองระยะแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถรองรับประชาชนในอีอีซีได้ถึงปี 2570 หรือปรัมาณ 2 ล้านคนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 5 แผนงานเราได้ประสานกับทางกรมลประทานเป็นหลักที่จะทำงานร่วมกัน เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำของชลประทานประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นแหล่งน้ำสำรองและซื้อน้ำจากเอกชน” หัวหน้าแผนงานกปภ.เขต 1 กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ