ข่าว

บ้านเอื้ออาทรบางเขน "ชุมชนสุขภาวะ"นับแต่เกิดจนวันตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านเอื้ออาทรบางเขน "ชุมชนสุขภาวะ"นับแต่เกิดจนวันตาย

 

                อาคารสูง 86 อาคาร 3,909 หน่วย ประมาณว่ามีผู้อยู่อาศัยร่วมๆ 10,000 คน ว่าไปแล้วเป็นเมืองย่อมๆ ดีๆ นี่เอง สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน)
             ความที่ชุมชนอาคารชุดมีขนาดใหญ่ จึงแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบโครงการออกเป็น 3 นิติบุคคล เพื่อให้สามารถบริหารจัดการชุมชนได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

บ้านเอื้ออาทรบางเขน "ชุมชนสุขภาวะ"นับแต่เกิดจนวันตาย
               ผู้อยู่อาศัยมาก ปัญหาย่อมมากเป็นธรรมดา แต่ 1 ทศวรรษของโครงการบ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน) พัฒนาการมาเป็นลำดับ สามารถตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยได้ตั้งแต่เกิดจนตายได้ระดับหนึ่งทีเดียว
             รางวัลรองชนะเลิศการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2560 ประเภทอาคารแนวสูงที่การเคหะแห่งชาติจัดประกวดขึ้น น่าจะสะท้อนภาพเด่นบางอย่างของชุมชนแห่งนี้
              นฤมล สีขาว ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบ้านเอื้ออาทรคลองถนน 3 มีขอบเขตดูแลครอบคลุมพื้นที่อาคารชุด 28 อาคาร และฐิติมา สมุทรอาลัย ผู้จัดการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกเครดิตยูเนียนไทยและอดีตผู้จัดการนิติบุคคล 3 เช่นเดียวกัน แท้จริงเป็นสองศรีพี่น้องกัน อาศัยอยู่ในโครงการเดียวกันและทำหน้าที่ไม่ต่างกัน
             นฤมล เข้ามาอาศัยในปี 2552 และเป็นกรรมการชุดแรกๆ ที่การเคหะแห่งชาติยังดูแลการบริหารโครงการอาคารชุดเต็มตัว ในขณะที่ฐิติมาผู้พี่เล่าว่า เข้ามาอาศัยช่วงเดียวกัน ความที่ทั้งคู่เป็นคนคล่องแคล่ว มีอัธยาศัยดี สุดท้ายฐิติมาเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคล 3 เมื่อปี 2557-2558 เมื่อหมดวาระ นฤมลผู้น้องก็ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ
              “ต่อสู้สารพัดอย่าง จนนักเลงมาไล่ปาขวดใส่ห้องพัก ทำให้ต้องหนีไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว” ฐิติมาเล่า ทั้งที่นิติบุคคลดำเนินการทำตามขั้นตอนทุกอย่าง สุดท้ายทุกอย่างค่อยๆ คลี่คลาย และนฤมลได้รับเลือกมารับหน้าที่ผู้จัดการนิติบุคคล 3 แทน โดยฐิติมาไปเป็นผู้จัดการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไทย ซึ่งมีสมาชิกจากสหกรณ์เครดิตยูเนียน 368 แห่ง สมาชิกร่วม 20,000 คน โดยภายในพื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน) ก็มีสหกรณ์เครดิตยูเนียนเช่นกัน และมีสมาชิกสหกรณ์เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ราว 300 ราย
            “เป็นลักษณะการออมเงินมีปันผลรายปี และเมื่อเสียชีวิตก็เป็นมรดกให้ลูกหลาน เป็นการสร้างวินัยทางการเงินไปในตัว” นฤมลเสริม
                การบริหารสุขภาวะในโครงการ นฤมลเล่าว่า การเคหะแห่งชาติมีส่วนช่วยเหลือมากตั้งแต่เริ่มต้น เพราะยังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคล เช่น การจัดตั้งตั้งศูนย์เด็กเล็กเพื่อรองรับเด็กๆ ในโครงการซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ และกิจกรรมที่การเคหะแห่งชาติ ร่วมกับ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนโครงการด้านกีฬา ได้แก่ บาสเก็ตบอล ฟุตซอล  ตะกร้อ เปตอง  ด้านธรรมะ เช่น ชมรมปฏิบัติธรรมะ ด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น นาฏศิลป์ รำวง กระทั่งการสนับสนุนป้อมสำหรับพักของอาสาสมัครตำรวจที่ทำงานคู่กับตำรวจจากสถานี
               “ที่นี่เดิมทีรถจักรยานยนต์หายทุกคืน จนต้องหารือกันว่าจะแก้ไขอย่างไร ลำพัง รปภ. อย่างเดียวไม่พอตรวจตรา ก็รับอาสาสมัครตำรวจบ้าน เดิมสมัครเข้ามาร่วม 20 คน ตอนนี้เหลือราว 10 คน ลาดตระเวนตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด คดีลักรถลดลงไปมากกว่าครึ่ง” นฤมลเล่าและตัวเธอเองก็เคยเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน
              ฐิติมาเสริมว่า นอกจากตำรวจ ตำรวจบ้าน และกล้องวงจรปิดประจำอาคารแล้ว ยังมีผู้อยู่อาศัยคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้ โดยเฉพาะในยามวิกาล
               “เราใช้ห้องไลน์กลุ่มเป็นเครื่องมือส่งข่าว ใครเห็นอะไรผิดปกติแจ้งข่าวในห้องไลน์ทันที รปภ. กับตำรวจบ้านก็รีบสกัดทันที  พอรถกระบะบรรทุกมอเตอร์ไซค์ขับออกไปในยามวิกาลก็ผิดปกติแล้ว เพราะต้องแจ้งนิติบุคคลฯ ก่อน พอถึงด่านเราก็ให้แสดงบัตรประชาชน ใบขับขี่ เอกสารรับรองจากนิติบุคคล ถ้าไม่มีก็ส่อถึงความไม่ชอบมาพากลแล้ว”
                ที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้อยู่อาศัยที่แน่นขนัดและไม่ได้จัดระเบียบเป็นปัญหาหนักของผู้อยู่อาศัยในโครงการที่นิติบุคคล 3 ดูแล เพราะเป็นพื้นที่ลึกเข้าไปด้านท้าย นฤมลเล่าว่า เข้าไปแล้วไม่สามารถออกได้ แท็กซี่เองจะไม่เข้าไปรับหรือส่งผู้โดยสาร จึงเตรียมนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่นิติบุคคลร่วมทั้ง 3 แห่ง โดยเสนอให้วิ่งรถทางเดียว one way เพื่อให้การเข้าออกสะดวกไม่ติดขัดเหมือนที่เป็นอยู่
                “ลองนึกดูว่า ถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมา รถดับเพลิงจะเข้าไปฉีดน้ำสกัดไฟได้อย่างไร มันน่ากังวลมาก”
                 ขยะในชุมชนก็เป็นปัญหาหนึ่ง นฤมลเล่าว่า การเคหะแห่งชาติ เคยเข้ามาให้ความรู้วิธีจัดการขยะ การรีไซเคิล และนิติบุคคล 3 ได้จัดตั้งคล้ายธนาคารขยะรับซื้อขยะจากห้องพักต่างๆ แต่เนื่องจากจุดรับซื้ออยู่ที่ศูนย์ชุมชนและมีที่วางจำกัด อีกทั้งอยู่ไกลจากผู้อยู่อาศัย ประกอบกับมีรถซาเล้งวิ่งเข้ามารับซื้อขยะ จึงทำให้ปริมาณขยะของธนาคารขยะน้อย ขายได้กำไรจากเดือนละ1-2 พันบาท เหลือไม่ถึง 1 พันบาท
                  แต่ที่ไปที่มาของธนาคารขยะกลับน่าสนใจกว่า ตรงจุดเริ่มต้นก็ขอรับบริจาคขยะจากผู้อยู่อาศัยเป็นทุนตั้งต้นการดำเนินงานของธนาคารขยะ และผลกำไรจากการขายน้อยนิดก็เป็นส่วนบริจาคให้จัดทำกิจกรรมภายในชุมชน เช่น วันเด็ก วันสงกรานต์ ซื้อของไปเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ เป็นน้ำใจที่ส่งถึงกัน
                  เรื่องความป่วยไข้ก็เป็นประเด็นที่นิติบุคคลเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข โดยส่งคนไปรับการอบรมกลับมาเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ทำหน้าที่ดูแลอาการป่วยไข้และจ่ายยาสามัญเบื้องต้น เช่น ปวดหัวตัวร้อน โดยมี อสส. ในโครงการหมุนเวียนมาประจำการในฐานะจิตอาสา ตัวนฤมลก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมจิตอาสาที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดแผลผู้ป่วยจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม นอกเหนือจากที่ดูแลแม่ตัวเองที่ป่วยติดเตียงเช่นกัน
                ขณะเดียวกันภายในโครงการยังได้จัดสรรพื้นที่จัดตลาดค้าขาย 40-50 ร้าน มีสหกรณ์ มีสมาคม ซึ่งฐิติมาบอกว่า  ล้วนเป็นแหล่งงานทั้งสิ้น 
                 โครงการบ้านเอื้ออาทรบางเขน คลองถนน จึงเป็นเสมือนที่ นฤมล สีขาว และ ฐิติมา สมุทรอาลัย สรุปคือความสุขในการใช้ชีวิตอยู่อาศัยในโครงการ มีรองรับตั้งแต่วันเกิดกระทั่งถึงวันตายทีเดียว

                               **************************
    
    
     

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ