ข่าว

 เปิดแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 62  รัฐทุ่ม1.2แสนล.จัดการทั้งระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 62  รัฐทุ่ม1.2แสนล.จัดการทั้งระบบ

          รัฐบาลเตรียมเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศเต็มสูบหลังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ หรือกนช. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำทั้งแผนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) ถือเป็นครั้งแรกหลังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ปรับปรุงองค์ประกอบ กนช. และออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้าราชการพนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ มาปฏิบัติราชการ หรือปฏิบัติงานในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 

         โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า สืบเนื่องจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่และ มีหน้าที่บูรณาการเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เกี่ยวข้องกับรายกระทรวงด้วยกัน เพื่อจะทำให้บังเกิดผลทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไปในอนาคตจึงต้องมีการประชุมหารือกรอบการทำงาน

      “แม้ว่าวันนี้ทำอะไรก็จะเป็นปัญหาไปหมด แต่ต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะทำเพื่อประเทศชาติของเรา ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า” 

       การประชุมครั้งนี้ทำให้เริ่มเห็นภาพความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  โดยที่ประชุมมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  พร้อมพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่หน่วยงานด้านน้ำเสนอมา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน  รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งนำ้เพื่อรองรับอีอีซี  

       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงภายหลังการประชุม โดยระบุว่าการประชุมครั้งแรกนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานได้รับทราบการแต่งตั้งกนช.ชุดใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ เลขาธิการสทนช. เป็นเลขานุการ โดยให้หน้าที่และอำนาจในการกำกับสั่งการเพื่อจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติได้ พร้อมทั้งมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีก 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิเคราะห์โครงการและติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล 

         รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นับจากนี้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจะเป็นระบบและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมี สทนช.ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การสั่งการน้ำในภาวะวิกฤติ และกลั่นกรองการเสนอของงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ทั้งงบบูรณาการด้านน้ำ งบกลาง เงินกู้ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความสำคัญและโครงการขนาดใหญ่และจะต้องผ่านกนช. ก่อนที่จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป 

         ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเสริมว่า กนช.เห็นชอบให้ สทนช. ทบทวนและปรับโครงสร้างให้ครอบคลุมภารกิจที่ได้รับมอบหมายและสอดรับ ร่างพ.ร.บ.น้ำ ที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยจะเพิ่มกองวิชาการ พิจารณาด้านน้ำทุกมิติ งานวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรวมศูนย์การติดต่อกับต่างประเทศด้านน้ำในเชิงนโยบาย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงจัดการน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานในระดับพื้นที่ 

        “สทนช.จะเร่งรัดและขับเคลื่อนแผนงานและโครงการด้านน้ำในปี 2561-2565 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2561 และให้เร่งแผนงานโครงการสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่ (Area Base) ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ พร้อมกำหนดแผนพัฒนาและฟื้นฟูการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญได้เห็นชอบโครงการตามที่สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่ ความพร้อมโครงการที่เสนอ ครม.สัญจร เหลือผ่านเกณฑ์ 216 โครงการ 4,212 ล้านบาท” เลขาธิการสทนช.กล่าว 

        ส่วนแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 เดิมได้เสนอต่อสำนักงบประมาณจำนวน 3,295 โครงการ วงเงิน 130,220 ล้านบาท ได้ตามหลักเกณฑ์และได้ปรับลดโครงการที่ไม่มีความพร้อมออก พร้อมเพิ่มแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เร่งด่วนแทน ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากควรทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ Area base ให้ชัดเจน และให้หารือกับสำนักงบประมาณพิจารณาหาแหล่งงบประมาณมาดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบปกติ

         ดร.สมเกียรติ เผยต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนช.ยังเห็นชอบแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำอีกหลายโครงการ อาทิ แผนการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งกรมชลประทานมีแผนพัฒนาน้ำต้นทุนในประเทศรองรับการเติบโตในพื้นที่ในระยะ 10 ปี จำนวน 320 ล้านลบ.ม. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ตามที่กรมชลประทาน โดยจะผันน้ำจากลำประทาวตอนบนไปตอนล่างก่อนไหลลงน้ำชีเพื่อตัดยอดน้ำและเลี่ยงเขตเมือง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบบรูณาการพื้นที่ 6 ตำบล อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเพื่อจัดหาน้ำให้พื้นที่ป่าจำปีสิรินธรและแปลงเกษตรเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น 

           นอกจากนี้ กนช.ยังได้รับทราบสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานรายงานด้วยว่า ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างขนาดกลาง-ใหญ่ รวม 60,361 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของปริมาณความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,654 ล้านลบ.ม. ส่วนสภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ในอนาคตคาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 2561 ใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งปริมาณฝนจะน้อย ยกเว้นภาคเหนือและใต้มีโอกาสที่ฝนจะสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งในปัจจุบันปรากฏการณ์อีเอ็นเอสโอ พัฒนาเป็นลานีญา และจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางก่อนสิ้นมีนาคม 2561 ทำให้ช่วงกุมภาพันธ์–เมษายน จะมีฝนในภาคเหนือ อีสาน และกลางสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งสทนช.ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย 

             อย่างไรก็ตามจากการประชุมในครั้งนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีได้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งแผน มีการแบ่งกลุ่มงบประมาณในแต่ละปีว่าจะนำไปใช้ในส่วนไหนบ้าง โดยจะแบ่งเป็นงบประมาณปกติ เช่น การปรับปรุง ซ่อมบำรุง ขยายแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว และงบประมาณที่ใช้ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น แผนสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่ใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงชี้แจงให้เห็นถึงการใช้งบประมาณปกติจำนวน 5-6 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ปี 2557-2558 ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไป รวมถึงในส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่แต่ละภาคเสนอมาจำนวน 20-30 โครงการนั้น ต้องนำมาพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ รวมถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการด้วย

 เร่งบูรณาการหน่วยงานจัด “แพ็กเกจน้ำ”  

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศว่า หลักๆ ก็คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำชาติที่ขับเคลื่อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะน้ำอุปโภคอุบโภคซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แรกที่ประกาศเอาไว้ในปี 2561 จะต้องให้ครอบคลุมในทุกหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ยังมีประมาณ 256 หมู่บ้านที่ยังเป็นปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในปี 2562 

          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคการผลิต ไม่ว่าเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงอีอีซีด้วย ซึ่งภาคการเกษตรนั้นปรากฏว่าการพัฒนาแหล่งน้ำช้ามากได้ประมาณ 30% ของเป้าหมาย  ซึ่งที่ผ่านมาจะมุ่งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเท่านั้นเ ส่วนโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังมีปัญหา ทำได้แค่การศึกษาเท่านั้นเหลือเพียงการออกแบบก่อสร้างที่จะขับเคลื่อนต่อไปในแต่ละภาค 

          สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันน้ำท่วมจะมีการปรับแผนใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะแผนงานของกรมเจ้าท่าและกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งได้มีมาสเตอร์แพลนไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ ส่วนพื้นที่ต้นน้ำนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

          “อะไรที่ทำพร้อมกันได้ให้ทำ ซึ่งเราปรับแผนของกรมเจ้าท่าเพื่อให้ลงมาแก้ปัญหาการขุดลอกแม่น้ำสายหลักให้ได้ภายในปี 2562-2563   สำหรับในปี 2562-2565 มีแผนงานโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น จะได้รับพิจารณาเป็นแพ็กเกจรวมกันให้ได้และมีความชัดเจนจึงจะดำเนินการต่อไปได้” เลขาธิการ สทนช.กล่าวย้ำ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ