ข่าว

ภาคเกษตรไทยได้อะไรจากกลุ่ม “ซีแอลเอ็มวี” ตอน 3 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ

 

  ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

            วันนี้ถึงเวลาของการเดินทางเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซีแอลเอ็มซี จริงๆ สักที อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่าการเดินทางครั้งนี้มีหลายเส้นทาง โดยเส้นทางแรกในการสำรวจศักยภาพด้านอาหารและการเกษตร เป็นการเดินทางจากไทยผ่าน จ.อุบลราชธานี เข้าสู่ สปป.ลาวใต้ แล้วต่อไปยังกัมพูชา 

           ซึ่งการเข้าประเทศลาวครั้งนี้ผมร่วมเดินทางกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ คือ ดร.กังสดาล กนกหงส์ และจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ ดร.ชลาธร จูเจริญ  เดินทางโดยรถยนต์เข้าทางด่านพรมแดนช่องเม็กเพื่อไปสู่เมืองปากเซที่จะมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งทีมนักวิจัยเราได้นัดพูดคุยกับนักวิชาการ ผู้ประกอบการทางการเกษตรและเกษตรกรในพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว 

          อันที่จริงแล้วการเดินทางด้วยรถยนต์ในการสำรวจครั้งนี้ระหว่างทางทำให้เราได้เห็นสภาพทางการเกษตรจริงๆ ได้ค่อนข้างเด่นชัด ซึ่งในพื้นที่ลาวใต้บริเวณเมืองปากเซนั้น เป็นพื้นที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำโขง เกษตรกรสามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้เพื่อทำการเกษตรได้ทั้งปี ดังนั้นข้าวจึงเป็นพืชหลักของพื้นที่แถบนั้น แต่เน้นปลูกข้าวเหนียวเป็นหลัก 

         สปป.ลาว มีการผลิตข้าวเหนียวเป็นยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อการบริโภคให้เพียงพอในประเทศ จึงเป็นการปลูกเพื่อบริโภคมีเหลือขาย และแลกเปลี่ยนเป็นผลิตอื่นกับเพื่อนบ้านบ้างเล็กน้อย ซึ่งแถบนี้ก็ทำนากันปีละสองครั้งเหมือนบ้านเรา เกษตรกรลาวยามว่างจากการทำนาก็มีไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองไม่ต่างจากเมืองไทยซึ่งค่าแรงจะน้อยกว่าไทยพอควร 

        นอกจากนี้เรื่องการทำประมงน้ำจืดแถบนี้ก็ถือว่าค่อนข้างทำกันมากเนื่องจากติดแม่น้ำโขง ซึ่งทีมนักวิจัยมีโอกาสไปสำรวจตลาดยามเช้า จึงมีโอกาสเห็นบรรดาปลาน้ำจืดต่างๆ ที่มาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยๆ ในแถบนี้ยังมีปลาหลายชนิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เลือกซื้อเลือกกินกันได้ ซึ่งบางชนิดในเมืองไทยเราหาได้ยากเย็นเต็มที 

        ผมลองถามชาวบ้านในตลาดถึงราคาสินค้าเกษตร ถ้าเป็นปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หมูบ้าน ไก่บ้าน ราคาจะค่อนข้างสูงเพราะถือว่าเป็นของดีมีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมี แต่จะมีสินค้าเกษตรสำเร็จรูปที่มาจากฟาร์มและโรงงานของไทยประเภทเนื้อหมู ปลา ไก่ ซึ่งราคาจะถูกกว่าสินค้าเกษตรจากธรรมชาติ 

       ดังนั้นผู้บริโภคชาวลาวทั่วไปส่วนใหญ่จึงบริโภคอาหารจากผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตเองในครัวเรือน บางส่วนก็ซื้อหาในตลาดแต่ก็จะเป็นสินค้าเกษตรที่สำเร็จรูปที่นำเข้าจากไทยซึ่งมีความต้องการสูงมาก

       ส่วนสินค้าเกษตรปลอดภัยที่ผลิตจากครัวเรือนและจากธรรมชาติก็จะเป็นความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังในการจับจ่ายอีกกลุ่มหนึ่ง ในครั้งหน้าเราจะเล่าให้ฟังถึงมุมมองของนักวิชาการ ผู้ประกอบการทางการเกษตร และเกษตรกรลาวว่าเขามองประเทศเขาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องของอาหารและการเกษตรครับ!

                                                  ..........................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ