ข่าว

 ตาม"ศุภนิมิต"ดูภารกิจเพิ่มไอคิวเด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ตาม"ศุภนิมิต"ดูภารกิจเพิ่มไอคิวเด็ก นำร่องโครงการหนองฮี“กินไข่ไอโอดีน”

             เพราะ “ไอโอดีน” สำคัญมากในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาสติปัญญา ร่างกาย และควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกายสำหรับทุกช่วงวัย และสำคัญมากสำหรับทารกในครรภ์และเด็ก จากการสำรวจภาวะการขาดสารไอโอดีน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าเด็กวัยแรกเกิด-6 ปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 10-20 มีความเสี่ยงของภาวะการขาดสารไอโอดีน

           “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้มาจับเข่าคุยกับผู้บริหารมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย “สราวุธ ราชศรีเมือง” ถึงภารกิจของมูลนิธิในการแก้ปัญหาภาวะการขาดสารไอโอดีนในเด็ก และเพื่อให้เด็กทุกคนมีสุขภาพอนามัยที่ดี มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จึงได้ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่

            สราวุธ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเด็กในอุปการะที่อยู่ใน ‘โครงการอุปการะเด็ก’ ทั่วประเทศ จำนวน 57,197 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนา ทั้งหมด 76 โครงการ ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีหัวใจหลักคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ยากไร้ที่สุดให้ได้รับโอกาสด้านการศึกษา ได้รับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก ได้มีสุขภาพและอนามัยที่ดี รวมไปถึงการส่งเสริมครอบครัวของเด็กให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างพอเพียง

              “ถ้าเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องโภชนาการ แม้จะได้รับการส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการด้านอื่นๆ ก็จะไม่สามารถมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องภาวะทุพโภชนาการในเด็ก จึงเป็นพันธกิจลำดับแรกๆ ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เด็กเล็กมีภาวะการขาดสารอาหาร ขาดสารไอโอดีนค่อนข้างสูง ด้วยกิจกรรม ไข่ไก่ไอโอดีน ที่จะเกิดประโยชน์ทั้งการสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคงในครัวเรือนของเด็ก และยังเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดสารไอโอดีนในเด็กไปพร้อมกันด้วย”

            สราวุธ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมไข่ไก่ไอโอดีน ที่เกิดความสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่นที่โครงการพัฒนาความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ครอบครัว และชุมชน อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 ทั้งการส่งเสริมความตระหนักเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก การสนับสนุนอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน การแก้ไขภาวะทุพโภชนาการในเด็ก และการหนุนเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านโภชนาการสำหรับเด็กในชุมชน 

          “ผมชอบกินไข่เจียวครับ ผมได้ไข่ไก่จากคุณหมอไปให้แม่ทำกับข้าวที่บ้านด้วย” ด.ช.อาคเนย์ วัย 6 ขวบ นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไศล ซึ่งเป็นเด็กในโครงการอุปการะเด็กที่มีภาวะขาดสารไอโอดีน เล่าถึงเมนูไข่แสนโปรดที่ช่วยให้เขามีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อน

           สำหรับเด็กใน ‘โครงการอุปการะเด็ก’ ที่มีภาวะขาดสารไอโอดีน โครงการพัฒนาเด็กฯ หนองฮี จะจัดเจ้าหน้าที่ชุดพิเศษตามติดไปสนับสนุนให้เด็กได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอถึงบ้าน ด้วยการสนับสนุนไก่พันธุ์ไข่และหัวอาหารเสริมไอโอดีนเข้มข้นให้แก่ผู้ปกครองเด็กเพื่อเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน 

         นอกจากนี้ โครงการพัฒนาเด็กฯ หนองฮี ยังได้สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหนองไศล พร้อมมอบหัวอาหารและสารไอโอดีนเข้มข้นเพื่อผสมในหัวอาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลให้อาหารไก่และทำความสะอาดโรงเรือน

          ทั้งนี้ ไข่ไก่ที่ได้จากการเลี้ยงที่ รพ.สต. ครึ่งแรกจะแจกจ่ายแก่หญิงตั้งครรภ์ที่มาตรวจที่ รพ.สต. และแจกจ่ายให้แก่เด็กๆ ที่มีภาวะขาดสารอาหารและขาดสารไอโอดีน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะนำมาจำหน่ายในราคาถูก เพื่อให้ทุกคนในชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีนที่อุดมด้วยไอโอดีนได้ และนำรายได้จากการขายไข่ไก่ และจากการขายมูลไก่เพื่อนำไปทำปุ๋ย มาหมุนเวียนเป็นค่าพันธุ์ไก่ไข่ ค่าหัวอาหาร ค่าสารไอโอดีนเข้มข้นผสมหัวอาหารเลี้ยงไก่ ซึ่งปัจจุบัน รพ.สต. หนองไศล มีไก่พันธุ์ไข่เลี้ยงไว้มากถึง 200 ตัวแล้ว

               วัชรพงษ์ กมลเลิศ เจ้าพนักงานสาธารณสุข รพ.สต.หนองไศล เล่าให้ฟังว่าไข่ไก่ปกติจะมีสารไอโอดีนอยู่ประมาณ 50 ไมโครกรัมต่อฟอง แต่ไข่ไก่เสริมไอโอดีนจะมีสารไอโอดีนมากถึง 160-200 ไมโครกรัมต่อฟอง นั่นเท่ากับว่าการบริโภคไข่ไก่เสริมไอโอดีนเพียงวันละฟอง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะได้รับปริมาณไอโอดีนอย่างเพียงพอกับที่ร่างกายต้องการได้รับในแต่ละวัน มีเพียงหญิงมีครรภ์และหญิงเลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้นที่ฟองเดียวอาจไม่พอ แต่ก็สามารถบริโภคผัก เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ปริมาณสารไอโอดีนอย่างเพียงพอต่อวัน 

                กินไข่ไก่ไอโอดีน นับเป็นอีกทางเลือกความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กได้เป็นอย่างดี

                                       *************************************************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ