ข่าว

SSMAP จัดการพื้นที่การเกษตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนุนเกษตรกร-จนท.ใช้ระบบSSMAPวางแผนการเพาะปลูกบริหารจัดการโครงการ วิเคราะห์ข้อมูล Zoning จากผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลติดตามน้ำเค็มรุกพท.เกษตร

          19 ม.ต.61 นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำข้อมูลด้านส่งเสริมการเกษตรบนเว็บไซต์ในรูปแบบของแผนที่ เรียกว่า ระบบบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการเกษตร หรือ SSMAP ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการติดตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืช ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Zoning จากผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล และการติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร โดยสามารถเข้าใช้บริการระบบ SSMAP ได้ที่ http://ssmap.doae.go.th/ssmap

          สำหรับการติดตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืช ทั้งโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย       ฤดูนาปรัง ปี 2561 และโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจนถึง 31 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ระบบ SSMAP  จะช่วยให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรทราบว่า พื้นที่ใดบ้างเข้าร่วมโครงการ และสถานะของแปลงต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีความก้าวหน้าในการดำเนินการถึงระดับใดบ้าง โดยข้อมูลที่ปรากฏใน SSMAP นั้นจะเป็นแบบ Realtime Tracking

          ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Zoning จากผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัลนั้น จะวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลความเหมาะสมของการปลูกพืชเศรษฐกิจและข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินเรื่องพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิด (Zoning) จะทำให้เกษตรกรทราบว่า พื้นที่การเกษตรของตนเองนั้นเหมาะสมที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรยังสามารถนำข้อมูลภูมิสารสนเทศดังกล่าว มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนพัฒนาการเกษตรภายในพื้นที่ได้ด้วย

          ด้านการติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรนั้น ระบบ SSMAP จะช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่และเฝ้าระวังการปลูกพืชได้เบื้องต้น เนื่องจากในระบบมีข้อมูลสถานีวัดค่าความเค็มของกรมชลประทาน ทั้งหมด 4 ลุ่มน้ำ  7 สถานี ประกอบด้วย การวัดค่าความเค็มจากแม่น้ำแม่กลอง คือ สถานีปากคลองดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี วัดค่าความเค็มจากแม่น้ำท่าจีน คือ สถานีสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม  และสถานีประตูน้ำกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร วัดค่าความเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ สถานีท่าน้ำนนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี วัดค่าความเค็มจากแม่น้ำบางปะกง คือ สถานีประตูระบายน้ำท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา สถานีสะพานบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และสถานีบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 

           ทั้งนี้บน SSMAP จะแสดงผลมาตรวัดความเค็ม โดยแบ่งออกเป็นโซนของสี คือ  สีเขียว (ความเค็มน้อยกว่า 0.75 g/l ) ค่าความเค็มปกติ สีส้ม (ความเค็มระหว่าง 0.75 – 1.2 g/l) ควรเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกไม้ดอกและพืชผักในพื้นที่เสี่ยง และสีแดง (ความเค็มมากกว่า 1.2 g/l) ควรเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกไม้ผลในพื้นที่เสี่ยง

           “ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานระบบ SSMAP นี้ได้ที่เว็บไซต์ http://ssmap.doae.go.th/ssmap  โดยเกษตรกรลงทะเบียนใช้งานระบบด้วยเลขที่สมุดทะเบียนเกษตรกร เจ้าหน้าที่ใช้รหัสส่วนบุคคลในการลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้าระบบ SSMAP ได้ทันทีโดยคลิกปุ่มผู้ใช้งานทั่วไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ