ข่าว

แวะ“ฟาร์มแม่โจ้” ดูวิธีแปรรูปเห็ด“หลินจืออินทรีย์” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 แวะ“ฟาร์มแม่โจ้”ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ ดูวิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด“หลินจือ” 

             "หลินจือ" หรือเห็ดมหัศจรรย์ ที่ว่ากันว่ามีสรรพคุณทางยาชั้นเลิศ กลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของสาขาพืชผัก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลัง “อาจารย์ปรีชา รัตนัง”  ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดและทีมงานได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต “เห็ดหลินจืออินทรีย์” มาตั้งแต่ปี 2537 ก่อนจะนำไปส่งเสริมเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงในโครงการหลวงจวบจนปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังได้ทำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสปอร์เห็ดหลินจือและเห็ดสมุนไพร โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 20 ล้านบาท

                 “ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ขึ้นเหนือไปตะลอนฟาร์ม ม.แม่โจ้ ดูกระบวนการผลิตและแปรรูปเห็ดหลินจืออินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของมหาวิทยาลัยที่ส่งจำหน่ายไปทั่วไทยในขณะนี้  ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีจาก ม.แม่โจ้ ริมถนนสายเชียงใหม่-พร้าว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ไปยังที่ตั้งของฟาร์ม ซึ่งอยู่ห่างออกไประมาณ 6 กิโลเมตร โดยฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 907 ไร่ใช้จัดกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ทั้งไม้ผล มะม่วง ลำไย พืชผัก การเพาะเห็ด มีพืชผักหลายชนิดและผลผลิตสดๆ จากฟาร์มจำหน่ายให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมด้วย

              สองข้างทางเต็มไปด้วยไม้ผล มะม่วงน้ำดอกไม้และลำไย มาจนเกือบสุดทางสังเกตเห็นอาคารใช้ในการแปรรูปเห็ดหลินจือและโรงเรือนกว่า 10 โรงตั้งเรียงรายอยู่บนตีนเนิน จากนั้น อ.ปรีชา ซึ่งยืนคอยต้อนรับคณะอยู่ก่อนแล้วก็พาไปตระเวนเดินชมกระบวนการผลิตและแปรรูปเห็ดหลินจืออินทรีย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของฟาร์มในขณะนี้ ระหว่างเดินชมอาคารต่าง ๆ อ.ปรีชาก็ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการวิจัยหลินจือว่าได้เริ่มมาตั้นแต่ปี 2537 ก่อนจะพัฒนามาเป็นเห็ดหลินจืออินทรีย์ในปัจจุบัน  ที่ผ่านมาได้นำองค์ความรู้การเพาะเห็ดชนิดนี้ไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงในโครงการหลวง จนประสบความสำเร็จและนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หลินจืออัดเม็ด น้ำเห็ดหลินจือ หลินจือฝานตากแห้ง แคปซูลสปอร์เห็ดหลินจืออย่างที่เห็นในปัจจุบัน

               "ที่จริงเห็ดหลินจือทุกประเทศรู้จักดี โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว  เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อเมริกา ส่วนใหญ่ใช้เป็นภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย  ไทยเองเป็นประเทศที่เขามองเพื่อการลงทุนเห็ดหลินจือ เพราะสภาพอากาศมีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโต หลินจือไม่ชอบเย็นจัด ต่ำกว่า 22 องศาดอกไม่ขยาย สูงกว่า 37 องศาดอกก็ไม่ขยาย พอดีรัฐบาลนี้มีนโยบายเกษตรอินทรีย์ โดยให้งบประมาณผ่านมาทางจังหวัดเชียงใหม่เป็นงบประมาณปี 57-59 เราก็มองว่าหลินจือเป็นเห็ดสมุนไพรที่มีศักยภาพมาก เป็นองค์ความรู้เพื่อสุขภาพประชาชนด้วย เราก็เขียนโครงการขอไป ปี 58 ได้มา 7.6 ล้านสร้างโรงเรือนได้ 1 หลัง โรงปลูก 1 หลัง พอปี 59 ได้มา 6.3 ล้านสร้างโรงเปิดดอก 10 หลัง แต่ยังไม่พอ ปี 60 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายได้มา 6.6 ล้าน ซื้อเครื่องจักรมาแปรรูป”

                อ.ปรีชาอธิบายต่อว่า หลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแต่ละเดือนประมาณ 6 หมื่นบาท ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 4 คนและทีมนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็โชคดีที่เห็ดหลินจือของเราได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นเห็ดอินทรีย์ 100% เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาหลังต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต  ส่วนพันธุ์ที่ใช้เป็นพันธุ์จี 2 ของกรมวิชาการเกษตร จุดเด่นของหลินจือสายพันธุ์นี้มีสรรพคุณทางยาสูงมากถึงแม้จะให้ผลผลิตต่ำเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่ดอกอาจจะใหญ่กว่ามาก แต่สรรพคุณทางยาน้อย

                "อินทรีย์แปลว่าต้องไม่มีเคมีแม้แต่นิดเดียว เริ่มจากการทำก้อนเชื้อเห็ดก็ใช้เมล็ดข้าวเปลือกอินทรีย์ของครูปทุมเป็นหัวเชื้อเห็ด ของเรนโบว์ฟาร์มจากสูงเนิน โคราช  ของเราก็มีผลิตข้าวฟ่างออแกนิกที่ฟาร์มแม่โจ้ส่งให้ด้วย แต่ไม่พอ ส่วนที่ 2 วัสดุเพาะ ขี้เลื่อยส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน ไม้ยางพารา เราก็นำมาหมักจุลินทรีย์ระยะเวลา 3 เดือนใช้กลไกจุลินทรีย์ช่วยย่อยให้เคมีบางตัวย่อยสลาย ก่อนนำมาทำก้อน ส่วนอาหารใช้รำละเอียด จากกลุ่มโรงสีข้าวอินทรีย์เอามาหมัก 1 คืนแล้วนำมานึ่ง 6 ชั่วโมงนานกว่าเห็ดอื่นๆ ปกติ 4 ชั่วโมงในอุณหภูมิ 103 องศาเสร็จแล้วนำเข้าโรงบ่มเชื้อ ก่อนมาเก็บไว้ที่โรงเกิดดอก ถามว่ามีต้นทุนสูงขึ้นหรือไม่ ยอมรับว่าสูงแน่นอนสูงกว่าเห็ดทั่วไป แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายเห็ดทั่วไป" หัวหน้าทีมวิจัยเห็ดอธิบายขั้นตอนการผลิต

                  ส่วนการตลาด อ.ปรีชา ยอมรับว่าไม่มีปัญหา ขณะนี้มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถผลิตให้ทัน เนื่องจากการเพาะเห็ดหลินจืนทำได้ปีละครั้งเท่านั้น คือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม เพราะเป็นช่วงที่สภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสม ปัจจุบันฟาร์มเห็ดหลินจือแม่โจ้สามารถผลิตดอกเห็ดได้เฉลี่ยปีละ 7 หมื่นดอก และยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่ายที่ผ่านการอบรมจากเราอีกส่วนหนึ่งด้วย  โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากทั่วประเทศ รวมทั้งจำหน่ายทางออนไลน์ สนนในราคาจำหน่ายถ้าเป็นดอกสดกิโลกรัมละ 500 บาท ส่วนดอกแห้งกิโลกรัมละ 1,500 บาท แต่ถ้าหลินจือบรรจุถุงซีลอย่างดีขนาด 50 กรัมราคาถุงละ 120 บาท ส่วนแคปซูลสปอร์หลินจืออยู่ที่ขวดละ 600 บาท 

              นับเป็นอีกความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเห็ดหลินจืออินทรีย์ ก่อนก้าวมาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เด่นเป็นต้นแบบหลินจืออินทรีย์รายแรกของประเทศ กลุ่มเกษตรกรสนใจกระบวนการผลิตเห็ดหลินจืออินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟาร์มแม่โจ้ โทร.053-873670, 08-1386-0590 อ.ปรีชา รัตนัง ยินดีให้คำแนะนำกระบวนการผลิตให้อย่างละเอียด

                                                                               

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ