ข่าว

เกษตรฯเผยป้องกันกำจัดหนอนหัวดำแล้วร้อยละ 95

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรฯเผยป้องกันกำจัดหนอนหัวดำแล้วร้อยละ 95 ย้ำวิธีการที่ใช้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 
                 นายประสงค์  ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทีมเจ้าหน้าที่กำกับติดตามการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ตามโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ใน 29 จังหวัด มีต้นมะพร้าวแกงความสูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไปที่ถูกหนอนหัวดำทำลาย จำนวน 2,608,034 ต้น ฉีดสารเคมีเข้าลำต้นแล้ว จำนวน 2,476,541 ต้น คิดเป็น
ร้อยละ 95 (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2560) 
                 รองอธิบดีฯ กล่าวถึงการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหนอนหัวดำว่า เป็นหนึ่งในหลายมาตรการสำหรับป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน โดยใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น (มะพร้าวแกงสูง 12 เมตรขึ้นไป) ซึ่งทดสอบแล้วว่าไม่พบสารเคมีตกค้างในเนื้อและน้ำของมะพร้าวทั้งในผลอ่อนและผลแก่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่า ควรใช้สารเคมีให้ถูกต้องตามคำแนะนำ ทั้งชนิดสารเคมี อัตราการใช้ วิธีการใช้ และชนิดของมะพร้าวที่แนะนำให้ใช้  
            นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาสารเคมี flubendiamide 20% WG สำหรับพ่นทางใบมะพร้าวชนิดอื่นที่ถูกหนอนหัวดำทำลายใน 29 จังหวัด จำนวน 1,269,100 ต้น ได้แก่ มะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร มะพร้าวที่ใช้ผลิตน้ำตาล และมะพร้าวอ่อนทุกความสูง ซึ่งสารเคมีสำหรับพ่นทางใบนี้ก็เป็นสารเคมีที่กรมวิชาการเกษตรทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำได้ผลดี และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง โดยมีความเป็นพิษต่อสุขภาพคนและสัตว์น้อยกว่าสารเคมีที่ใช้ในการพ่นเพื่อกำจัดยุง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดสรรให้กับจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 29 จังหวัดได้ภายในเดือนมกราคม 2561
             “สิ่งสำคัญอย่างมากคือ เจ้าของสวนและชุมชนต้องหมั่นทำความสะอาดแปลงและสวนไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูมะพร้าว และใช้ศัตรูทางธรรมชาติแตนเบียนบราคอนมาปล่อยทุก 15 วัน ในอัตรา 200 ตัวต่อไร่ เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้หนอนหัวดำกลับมาระบาดอีก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายผลิตแตนเบียนบราคอน 252 ล้านตัว โดยให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในพื้นที่ที่มีการระบาดเข้ามามีส่วนร่วมผลิตแตนเบียนบราคอนพร้อมให้ความรู้แก่ชุมชนในการผลิตแตนเบียนบราคอนได้เอง และขณะนี้ปล่อยแตนเบียนบราคอนไปแล้วกว่า 102 ล้านตัว (ข้อมูล ณวันที่ 8 ธันวาคม)” รองอธิบดีฯ กล่าว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ