ข่าว

 เจาะลึก‘แอพพลิเคชั่น’ด้านดินและปุ๋ย ตอบโจทย์‘ไทยแลนด์4.0’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เจาะลึก‘แอพพลิเคชั่น’ด้านดินและปุ๋ย ตอบโจทย์นโยบาย‘ไทยแลนด์4.0’

 

            ก้าวให้ทันเทคโนโลยีตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้มุ่งมั่นพัฒนาแอพพลิเคชั่นผ่านสมาร์ทโฟนในรูปแบบต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อให้หมอดินอาสาและเกษตรกรทั่วประเทศนำไปประยุกต์ในการสืบค้นข้อมูลด้านดิน

 เจาะลึก‘แอพพลิเคชั่น’ด้านดินและปุ๋ย ตอบโจทย์‘ไทยแลนด์4.0’

            สมโสตถิ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลทำให้มีการพัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านดินเป็นไปอย่างก้าวกระโดดเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นหลายตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หมอดินอาสาที่อยู่ในพื้นที่นำไปใช้และถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรนำไปใช้แล้วกว่า 70%

           “เรามีแอพพลิเคชั่นโมบายหลายตัวที่เกษตรกรสามารถโหลดผ่านมือถือหรือสมาร์ทโฟน อย่างเช่น “Agri-Map Mobile” ซึ่งเปิดใช้ไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ตัวนี้ถือเป็นพระเอก เพราะมีข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต ดิน น้ำ พืช ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงตลอดเวลา”

            ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ สถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

             ในส่วนกรมพัฒนาที่ดินก็ได้จัดทำโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแอพพลิเคชั่น ให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยขึ้น 2 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ LDD Soil Guide ซึ่งนำเสนอแผนที่ดิน ข้อมูลดิน สมบัติดิน พร้อมคำแนะนำในการจัดการดิน ปุ๋ย ความเหมาะสมสำหรับพืชและข้อจำกัดต่างๆ ในเบื้องต้น และแอพพลิเคชั่น “ปุ๋ยรายแปลง” ที่เน้นให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยเมื่อมีการเก็บตัวอย่างดิน มีผลวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง เป็นโปรแกรมช่วยตัดสินใจ ในการจัดการดินตามค่าวิเคราะห์ของดินตามพื้นที่ แสดงการจัดการดินเบื้องต้น รวมถึงชนิด ปริมาณ และเวลา ในการใส่ปุ๋ย 

           โดยในการใช้งาน เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบสมบัติ ลักษณะของดิน ข้อจำกัด แนวทางจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้นๆ หากหาแนวทางการจัดการดิน ปุ๋ยได้ตามต้องการ สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในพื้นที่แล้วก็สามารถนำคำแนะนำนั้นไปปรับใช้ได้ทันที

           “นอกจากแอพพลิเคชั่น 2 ตัวนี้แล้วยังมีโปรแกรมปลูกหญ้าแฝก ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาขึ้นมา จนได้รับรางวัลหญ้าแฝกโลกที่ประเทศเวียดนามมาแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาและเรากำลังเชื่อมเครือข่ายให้เชื่อมกันทั่วโลก ในวันครบรอบกรมพัฒนาที่ดินเดือนพฤษภาคมปีนี้จะมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นทางด้านดินและปุ๋ยทุกตัวอย่างยิ่งใหญ่เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย” ผอ.สมโสตถิ์กล่าวย้ำ  

            ขณะที่ ภิรมย์ แก้ววิเชียร หมอดินอาสาดีเด่นระดับชาติ ต.วังโตนด อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เกษตรกรเจ้าของสวนพริกไทยส่งออก ยอมรับว่าผลพวงจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลด้านการเกษตรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนหากมีปัญหาต้องวิ่งไปหาเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นจากมือถือดูได้ทันที เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดินและปุ๋ยหรือเกี่ยวกับการเกษตรก็จะสามารถสื่อสารผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กหรือค้นหาในแอพพลิเคชั่นของกรมพัฒนาที่ดินได้ตลอดเวลา

            “เดี๋ยวนี้มันง่ายครับแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ทำได้ทุกอย่าง อยากจะรู้เรื่องอะไรก็รู้ได้โดยผ่านมือถือ ซึ่งมีทั้งกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก แอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายที่จะช่วยค้นหาคำตอบให้เราต่างจากเมื่อก่อนมาก” หมอดินอาสาคนเดิมระบุ  

          ไม่ปฏิเสธว่าผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนส่งผลให้หลายนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลบังเกิดผลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) หรือโซนนิ่ง โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อส่งเสริมสนับสนุน จูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต

           จากการสำรวจข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่าในปีงบประมาณ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 10,502 ราย โดยในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 28.7 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 7,303 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มจากเดิมที่มีผลตอบแทนสุทธิรวม 3.4 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 864 บาทต่อไร่ต่อปี โดยมีผลตอบแทนสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 6,463 บาทต่อไร่ต่อปี

            ส่วนสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก

            สำหรับปีงบประมาณ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่ พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่ 

             ทั้งนี้ จากการประเมินผลในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ได้ทราบถึงความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยในการปรับเปลี่ยนการผลิต และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก.จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป 

            จึงนับเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยให้ข้อมูลด้านการเกษตรสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และน่าจะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อันจะเป็นการเสริมสร้างการบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทย ให้มีความยั่งยืน สมดุลทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตต่อไป

 

  น้อมรำลึกในหลวงร.9 "รักษ์โลก รักษ์ดินสู่ความยั่งยืน"

         ในระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดงานวันดินโลก ปี 2560 ภายใต้สโลแกน "รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” (Caring for the Planet Starts from the Ground) ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

          สุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถด้านการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นที่ประจักษ์และยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) และองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก" (World Soil Day) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้จัดงานวันดินโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี 

            ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรดินของประเทศ ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ทรงศึกษา วิจัย ทดลอง พัฒนา ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ขยายผลให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติด้วยวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัด เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ผลสำเร็จของการพัฒนาเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในระดับสากล ก่อให้เกิดประโยชน์คุณูปการอเนกอนันต์แก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2560 เวลา 09.30 น. โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธาน

           ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ “ตามรอยพระราชปณิธาน ปราชญ์แห่งดิน” ประกอบไปด้วย นิทรรศการสหประชาชาติสดุดี นิทรรศการฟื้นฟูปฐพีด้วยพระปรีชาพ่อ นิทรรศการสานต่องานพ่อทำ และนิทรรศการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเสวนาวิชาการ การประกวดวาดภาพและสุนทรพจน์ระดับเยาวชน การแข่งขันตอบปัญหา กิจกรรมสาธิตและฝึกปั้นภาชนะจากดิน กิจกรรมนั่งรถพ่วงชมแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ แปลงปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามพระราชดำริด้วย

 กว่าจะเป็น“วันดินโลก”

            วันดินโลก ถูกกำหนดขึ้นตามมติขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2556 ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก และกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน ต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

         ส่วนการกำหนดให้วันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมนั้น สืบเนื่องจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2545 ทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการปกป้องและพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งประกอบด้วย โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โครงการหญ้าแฝก โครงการแกล้งดิน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย และโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ เป็นต้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ