ข่าว

อ่างเก็บน้ำ“นฤบดินทรจินดา”มรดกจาก“พ่อ”เพื่อช่าวปราจีนบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่างเก็บน้ำ“นฤบดินทรจินดา”มรดกจาก“พ่อ”ปัดเป่าทุกข์ลูกหลานลุ่มน้ำปราจีนบุรี

              คำกล่าวประโยคนี้ น่าจะเป็นคำกล่าวที่อธิบายได้ดีถึงความทุกข์ยากของชาว “ปราจีนบุรี” ที่ในอดีตต้องเผชิญกับทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำแทบทุกปีได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะ 2 ปัญหานี้เท่านั้น ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและน้ำเน่าเสีย ก็นับเป็นปัญหาใหญ่ที่คอยวนเวียนกลับมาซ้ำเติมประชาชนตลอดแนวลุ่มน้ำปราจีนและใกล้เคียงจนถึงขั้นไม่สามารถผลิตน้ำประปาส่งให้ชุมชนได้แทบทุกปีเช่นกัน

               แต่หลังจากที่อ่างเก็บน้ำ “นฤบดินทรจินดา”หรือที่คุ้นหูในชื่อ “โครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จและเริ่มเก็บน้ำในปี 2559 ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็จะได้รับการปัดเป่าให้หมดสิ้นไป

                ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้กับพสกนิกรไทยทุกคน โดยย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการนี้เป็นครั้งแรก โดยให้กรมชลประทานไปพิจารณาวางโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยาง และเขื่อนห้วยโสมง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวเนื่องจากน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงเป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

                หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 อนุมัติให้ดำเนินการศึกษา สำรวจ ออกแบบ กรมชลประทานจึงได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในปี 2538 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์

                 โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จและจัดส่งรายงานให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปี 2546 แต่การดำเนินการก็ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากในปี 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ก่อสร้างโครงการห้วยโสมงฯ ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้กรมชลประทานต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่

               โดยผนวกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 กระทั่งล่วงเข้าสู่วันที่ 23 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรี จึงได้มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553-2561 รวม 9 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 8,300 ล้านบาท

              นอกเหนือจากพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานวางโครงการห้วยโสมงแล้ว ความโดดเด่นอีกประการของโครงการห้วยโสมง คือ การปฏิบัติตามแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด จนได้รับความชื่นชม "บันทึกด้วยความยินดี ที่มีการลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้างและร้องขอให้บูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง" จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 38 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์

               ขณะที่ต่อมา กรมชลประทาน ได้ขอพระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา”อันมีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

               นายทองเปลว กล่าวต่อว่า อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่บ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร เก็บกักน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตรทำให้สามารถขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 111,300 ไร่ในเขตอำเภอนาดีและอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

                 ทั้งนี้นอกจากประโยชน์ด้านการเกษตรแล้ว “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” ยังจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งในเขตอำเภอนาดีและอำเภอกบินทร์บุรี รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรและระบบน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำเกือบทุกปี ที่สำคัญ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังจะทำหน้าที่เป็น“แนวกันชน”ป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา อันเป็นพื้นที่“มรดกโลกทางธรรมชาติ”รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ได้อีกประการหนึ่ง ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรีได้อีกด้วย

               ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล อันเกิดจากพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยราษฎรที่เดือดร้อน ในวันนี้ “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา”ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถช่วยบรรเทาปัญน้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อพสกนิกรลุ่มน้ำปราจีนบุรีทุกคน ที่ความทุกข์ยากจากปัญหาน้ำได้รับการปัดเป่าให้หมดสิ้นไป

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ