ข่าว

เร่งปาล์มน้ำมันไทยสู่มาตรฐานโลก "RSPO"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เร่งปาล์มน้ำมันได้มาตรฐานโลก สู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืนชาวสวนปาล์ม

 

        ในปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องและมีผลเสียต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น แรงกดดันของผู้บริโภคในตลาดโลกทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเกิดแนวคิดริเริ่มในการผลิตอย่างยั่งยืนขึ้น ภายใต้มาตรฐาน “อาร์เอสพีโอ” (RSPO: Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งหมายถึงการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน

          มานิต วงษ์สุรีย์รัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัดในฐานะนายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย ให้ทัศนะเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานอาร์เอสพีโอ (RSPO) โดยระบุว่าเป็นมาตรฐานที่ออกโดยสหภาพยุโรป หลังจากผลผลิตน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้าไปตีตลาดในยุโรปตั้งแต่ปี 2520 จวบจนปัจจุบันเนื่องจากน้ำมันปาล์มมีราคาถูกกว่าน้ำมันคาโนลาที่ผลิตจากต้นเรปซีด ซึ่งใช้บริโภคกันอย่างแพร่หลายในยุโรป ส่วนไทยไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากมูลค่าส่งออกยังน้อยเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย         

            “RSPO เกิดขึ้นเพราะน้ำมันปาล์มเอเชียไปตีตลาดในยุโรป เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมันคาโนลา เหตุต้นทุนการผลิตถูกกว่ามาก ปาล์มปลูกครั้งเดียวมีอายุยาวนานถึง 30 ปี ขณะที่พืชน้ำมันอย่างเรปซีดที่ใช้ผลิตน้ำมันคาโนลาปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวเสร็จก็ปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง” 

            นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มฯ เผยต่อว่า ผลจากน้ำมันปาล์มเข้าไปตีตลาดโลกมาตั้งแต่ปี 2520 โดยเฉพาะอินโดนีเซียและมาเลเซีย ถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 90 ทำให้ทางสหภาพยุโรปพยายามหาทางกีดกันทางการค้า ด้วยการกำหนดมาตรฐานกระบวนการผลิตปาล์มน้ำมันที่เรียบกว่า RSPO ขึ้นมา โดยมุ่งเป้าไปที่การบุกรุกทำลายผืนป่าในธรรมชาติเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียไปบุกรุกทำลายที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง 

           “ทางยุโรปกล่าวหาอินโดฯ ว่าการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มไปทำลายที่อยู่อาศัยของอุรังอุตัง 1 ใน 8 ข้อของการกำหนดมาตรฐาน RSPO จะต้องปลูกปาล์มในพื้นที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ถ้าเป็นที่รกร้างก็ต้องมีหน่วยราชการหรือผู้นำชุมชนให้การรับรอง ส่วนไทยไม่มีผลกระทบ เพราะประเทศเราไม่มีป่าเลย ที่ปลูกส่วนใหญ่ก็มีเอกสารสิทธิ แต่ถึงอย่างไรประเทศไทยเราก็ต้องเข้าโครงการรับรองมาตรฐาน RSPO ด้วย เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับโลก”

          ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มทั่วประเทศประมาณ 5 ล้านไร่ แต่ละปีสามารถผลิตน้ำมันปาล์มเฉลี่ย 2 ล้านตัน แบ่งเป็นไบโอดีเซล 8 แสนตัน บริโภค 8 แสนตัน ส่วนที่เหลือใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่างๆ อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตน้ำมันปาล์มและเกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 70 โดยเฉลี่ย 

            นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มฯ ระบุอีกว่า สาเหตุสำคัญที่ประเทศไทยได้รับรองมาตรฐาน RSPO น้อย เนื่องจากขั้นตอนการปฏิบัติมีความเข้มงวดสูงมาก กว่าจะผ่านได้ยากและต้องใช้เวลานาน อาจก่อให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิตและการตลาด จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับประเทศไทยภายใต้ชื่อ TSPO ขึ้นมาเพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการก้าวไปสู่ RSPO ต่อไป

            “ผมเพิ่งไปประชุมกับ มกอช.ที่สุราษฎร์ฯ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมาเพื่อสรุปร่าง TSPO ครั้งสุดท้าย เนื้อหาในร่างก็ถอดมาจาก RSPO เกือบทั้งหมด เพียงแค่ขั้นตอนการปฏิบัติไม่เข้มงวดมากนักเพื่อให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ เมื่อเกษตรกรผ่าน TSPO การทำมาตรฐาน RSPO ก็ไม่ยุ่งยากแล้ว เช่นเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซียเขาก็มีมาตรฐานของเขาเหมือนกัน อย่างมาเลย์ก็มี MSPO ส่วนอินโดฯ มี ISPO” มานิตให้ข้อมูลทิ้งท้าย

            อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศที่ได้รับการรับรองเกณฑ์กำหนดและตัวชี้วัดตามกรอบมาตรฐาน RSPO แล้ว ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่ปาปัวนิวกินีอยู่ระหว่างการนำเสนอหลักการระดับชาติต่อ RSPO สำหรับประเทศไทยได้เริ่มต้นให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีการตั้งกลุ่มอย่างชัดเจนโดยผ่านโรงงานรับซื้อปาล์มสกัดน้ำมันและประเทศไทยก็ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ในประเภทกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยของโลกเป็นกลุ่มแรกในเดือนตุลาคม 2555 ในขณะที่ประเทศอื่นเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันขนาดใหญ่เท่านั้น        

 เกษตรกรมั่นใจ“อาร์เอสพีโอ”ช่วยลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต  

            วรวิทย์ วงษ์สุรีรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด และผู้ดูแลกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการมาตรฐาน RSPO มาตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มแรกมีเกษตรกรในเครือข่ายเข้าร่วมโครงการจำนวน 158 ราย มีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 5,000 ไร่ ผลผลิตน้ำมันดิบได้ปริมาณ 3,763 ตัน จากนั้นได้ขยายผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันจำนวน 426 ราย มีพื้นที่ปลูกจำนวน 13,761 ไร่ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 27,522 ตันต่อปี โดยมีปริมาณปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO จำนวนทั้งสิ้น 5,790.34 ตัน โดยบริษัทได้เพิ่มปริมาณปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10-20 ต่อปี

          ขณะที่ สุชาติ คงปรือ เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มใน ต.โคกยาง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด เผยว่า หลังเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2558 จนกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากมีการจัดการสวนอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะการใช้สารอารักขาพืชและปุ๋ยจะไม่ใช่แบบพร่ำเพรื่อเหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญทางโรงงานยังให้ราคารับซื้อผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20 สตางค์ถือว่าคุ้มค่ามาก

           “ของผมมีอยู่ 25 ไร่ เมื่อก่อนให้ผลผลิตเฉลี่ย 2 ตันต่อไร่ต่อไป แต่พอเข้าร่วมโครงการ RSPO ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 ตันกว่า แล้วต้นทุนการผลิตลดลง การใช้ปุ๋ยใช้ยาถูกวิธีมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ใช้แบบเหวี่ยงแห เปลืองโดยใช่เหตุ ซึ่งมันเป็นต้นทุนทั้งนั้น”

            เขายอมรับว่าการเข้าร่วมโครงการนั้นมีส่วนดี เพราะมีนักวิชาการมาคอยให้คำแนะนำการดูแลรักษาต้นปาล์มน้ำมัน การแนะนำเรื่องดินและปุ๋ย ตลอดจนวิธีการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกวิธี ทำให้ได้รับข้อมูลทางวิชาการอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งไม่ง่ายนักที่เกษตรกรชาวบ้านจะได้รับองค์ความรู้จากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องปาล์มโดยตรง

           “อย่างการดูแลฟื้นฟูดินจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์พิกุลทองมาช่วยให้คำแนะนำ เมื่อเรารู้ว่าควรจะปรับปรุงดินอย่างไรให้เหมาะสมกับปาล์มอายุขนาดนี้ ใช้ปุ๋ยแบบไหนถึงจะเหมาะกับดิน ส่วนทางโรงงานก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาแนะนำเรื่องการจัดการสวน ทำอย่างไรถึงจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากครับ” เกษตรกรชาวสวนปาล์มรายเดิมกล่าวย้ำ

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ