ข่าว

ยกไทย ‘ฮับ’ เมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มอง“ปฏิรูปอารักขาพืชในยุค 4.0”" ยกไทย ‘ฮับ’ เมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค

            นับเป็นงานใหญ่ส่งท้ายปีสำหรับงานประชุมวิชาการการอารักขาพืชแห่งชาติครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปอารักขาพืชไทยสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง จัดโดยสมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยด้านอารักขาพืชในทุกมิติ 

            “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้จะพาไปดูบรรยากาศของการประชุม พร้อมลงพื้นที่ดูการอารักขาพืชในสวนปาล์มของเกษตรกรและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ด้วย โดยบรรยากาศการประชุมวันแรกหลังประธานในพิธี “อำพล เสนาณรงค์” ผู้เคยดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 กล่าวเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลแก่บุคคลดีเด่นด้านอารักขาพืช จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษโดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร “ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ” เรื่องแนวทางการอารักขาพืชภายใต้บริบทของไทยแลนด์ 4.0" และการบรรยายพิเศษเรื่องกระบวนการเก็บรักษาดูแลเมล็ดพันธุ์พืช โดยทีมวิจัยบริษัท ซินเจนทา ครอปโปรเทคชั่น จำกัด หนึ่งในองค์กรด้านธุรกิจอารักขาพืชและเมล็ดพันธุ์ที่ร่วมสนับสนุนการประชุมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เครือข่ายสมาคม 

         สัญญา สุชาโน ผู้จัดการฝ่ายขายลูกค้ารายใหญ่ ผลิตภัณฑ์สารคลุกเมล็ด ซินเจนทา ครอปโปรเทคชั่น กล่าวถึงการประชุมเชิงวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติในครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักวิชาการจากภาครัฐและเอกชน นิสิตและนักศึกษา ได้เสนอผลงานวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การพัฒนางานด้านวิทยาการอารักขาพืชทุกด้าน ที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรของประเทศไทยอย่างครบวงจรและยั่งยืน  

       โดยเฉพาะสถาบันเทคโนโลยีอารักขาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงาน มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อารักขาพืชสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์โดยตรง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ที่ปัจจุบันนิยมใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับคลุกเมล็ดเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกให้แก่เมล็ดพันธุ์มากยิ่งขึ้น ภายใต้การทำงานอย่างเป็นระบบของ Seedcare Institute (SCI) ประเทศสิงคโปร์ ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ งานทดลอง ตลอดจนการฝึกอบรมให้แก่ลูกค้าและหน่วยงานที่ต้องการองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์ โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหลัก ในภูมิภาคอาเซียน

          “สำหรับเป้าหมายหลักของการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทย คือการผลิตให้เพียงพอใช้ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในด้านความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์และนวัตกรรมการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคอาเซียน และมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันได้ในระดับสากล"

         ส่วนทิศทางการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยนั้น  สัญญาให้ทัศนะว่า ศักยภาพของไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านเมล็ดพันธุ์ให้เป็นแถวหน้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพของภูมิภาคมายาวนาน มีความหลากหลายของพืชเกษตรอุตสาหกรรม เห็นได้จากมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเมล็ดพันธุ์แนวหน้าของโลกมาตั้งฐานการผลิต สถานีทดลองวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังภูมิภาคอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ประกอบกับแนวโน้มความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค แมลง และมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง เป็นที่ต้องการของเกษตรกรในทุกภูมิภาคยิ่งจะทำให้แนวโน้มความเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ภูมิภาคนี้เติบโตขึ้น จนภาครัฐได้กำหนดให้ไทยเป็นซีดฮับของภูมิภาค จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน

        ขณะที่ ดร.เบญจรงค์ วังคะฮาด ผู้จัดการฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย  ซินเจนทา ครอปโปรเทคชั่น  มองว่าการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผลิตภัณฑ์ด้านสารอารักขาพืช และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรอื่นๆ ล้วนส่งผลต่อมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มาตรฐาน RSPO หรือ Roundtable on Sustainable Palm Oil ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืนระดับสากล ซึ่งจะส่งผลต่อมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในตลาดโลกด้วย 

          จากนั้นลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด ริมถนนสายตรัง-สิเกา อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งมีกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาร์เอสพีโอ โดยมีมานิต วงษ์สุรีรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทและนายกสมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทยบรรยายสรุปถึงขั้นตอนการทำงานพร้อมมาเยี่ยมชมกระบวนการผลิต การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากน้ำเสียของโรงงาน โดยนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่มีกว่า 426 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 5 หมื่นไร่  

         ก่อนกลับได้มีโอกาสแวะเยี่ยมแปลงปาล์มน้ำมันของสุชาติ คงปรือ เกษตรกรหัวก้าวหน้าใน ต.โคกยาง อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาร์เอสพีโอ อันเป็นผลมาจาการใช้สารอารักขาพืชอย่างถูกวิธี 

                                                        .................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ