ข่าว

ชง 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สภาเกษตรฯ"ชงยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคง-เข้มแข็งของเกษตรกร-ภาคชนบทในประชุมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วันนี้

        21 พ.ย.60 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้จัดการประชุม 3 ครั้ง เพื่อพิจารณากรอบจัดทำยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งของเกษตรกรและภาคชนบท เพื่อเสนอในที่ประชุมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในวันนี้ (อังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 )ภายใต้วิสัยทัศน์ “ฐานรากของชาติมั่นคง  เศรษฐกิจของประชาชนมั่งคั่งด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน”โดยหลักการจะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยแนวทาง“การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม”เป้าหมายของยุทธศาสตร์คือต้องการให้ภาคเกษตรหลุดพ้นจากการพึ่งพารัฐและเติบโตเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาชาติให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ ซึ่งมีแนวนโยบายและระบบบริหารจัดการภาครัฐที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ และมีกระบวนการส่งเสริมแบบใหม่ ที่เน้นการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร 

        สำหรับข้อเสนอต่อที่ประชุม วันนี้ ทางสภาเกษตรฯจะเสนอยุทธศาสตร์หลัก 5 ข้อคือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก  2.การเชื่อมโยงความสามารถของเกษตรกรและการเข้าถึงฐานทรัพยากร  3.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) และความหลากหลายทางชีวภาพ  4.การพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคมของชุมชนเกษตรกรรม  5.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

        วิธีการสำคัญที่กำหนดเป็นแนวทางในยุทธศาสตร์ คือ ระบบการจัดการจากล่างสู่บนตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชนท้องถิ่นตามสภาพภูมิสังคมขึ้นมา เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรในการผลิตที่ใช้ฐานความรู้จากนวัตกรรมเทคโนโลยีผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนำสู่เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมและองค์กรเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ พลังงาน  ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมและกำหนด เป็นการกำกับและสนับสนุน  สร้างระบบสนับสนุนด้านนโยบาย ข้อมูล ระบบกองทุน แก้ไขกฎหมายที่สร้างข้อจำกัด มาตรการทางภาษี รวมถึงหน่วยงานที่เป็นกลไก ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรให้มีอิสระในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย แผนงาน และบริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ พันธุกรรมพืชและสัตว์  เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการพัฒนาการผลิตทางการเกษตรต่อไป 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ