ข่าว

ขยายผลงานในโครงการ“ชีววิถี” สู่แปรรูปผลิตภัณฑ์รับการตลาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ขยายผลงานในโครงการ“ชีววิถี” สู่แปรรูปผลิตภัณฑ์รับการตลาด

 

            โครงการชีววิถี กฟผ.ได้น้อมนำศาสต์ของพระราชามาดำเนินการ พร้อมขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบของโรงไฟฟ้า และเขื่อน ที่ กฟผ. รับผิดชอบ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ด้วยดี ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างที่จังหวัดกระบี่ก็เป็นการต่อยอดขยายผล โครงการฯ โดยจะมีการพัฒนาขบวนการผลิตและการแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น"

             มานะ โพธิ์ทอง หัวหน้ากองพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กล่าวระหว่างนำเยี่ยมชมโครงการชีววิถี กฟผ.ที่จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้แทนสารเคมี ในการดำเนินงาน 4 กิจกรรม ได้แก่ การเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม

           พร้อมกับการทำการตลาดให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของชุมชน เนื่องจากกิจกรรมในโครงการชีววิถีของชุมชนได้ประสบความสำเร็จในขั้นต้นของการทำการผลิตแล้ว ฉะนั้นก้าวต่อไปก็เรื่องของการตลาด เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป  โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองและลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางโครงการชีววิถีฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เขื่อน และใต้แนวสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีชุมชนต้นแบบในการดำเนินงานในโครงการชีววิถีทั้งหมด 26 แห่ง ทั่วประเทศ

            นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการนำโครงการชีววิถีฯ เข้าดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ ตั้งแต่ปี 2546 โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในแต่ละปีสามารถสร้างเครือข่ายและขยายผลได้ ไม่น้อยกว่า 120 ชุมชน 50 โรงเรียน และประชาชนทั่วไปกว่า 100,000 คน จนนำมาสู่ความร่วมมือโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน

           ขณะที่ ธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เผยว่าในปี 2560 กฟผ.ได้จัดกิจกรรมน้อมสืบสานปณิธานงานของพ่อ 4 เส้นทาง  โดยครั้งนี้ได้รวมพลังกับเครือข่ายจิตอาสาลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้กับผืนป่าชายเลนในชุมชนบ้านแหลมกรวด จ.กระบี่ พร้อมทั้งต่อยอดความรู้ พัฒนาอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

            สำหรับกิจกรรมน้อมสืบสานปณิธานงานของพ่อ “ปั่น-ปั้น-ปัน-ปลูก ป่าชายเลนกระบี่” ในครั้งนี้ เป็นการเชิญชวนจิตอาสาที่สนใจร่วม ‘ปั่น’ จักรยานจากโรงเรียนบ้านแหลมกรวดมุ่งหน้าสู่ชุมชนบ้านแหลมกรวด จ.กระบี่ เพื่อ ‘ปลูก’ ป่าชายเลน เพิ่มเติม 5 ไร่ ในพื้นที่ จ.กระบี่ ต่อเนื่องจากที่ กฟผ. ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน จ.กระบี่ จนถึงปัจจุบัน รวมมีพื้นที่ปลูกป่าชายเลนแล้วกว่า 4,200 ไร่ และการศึกษาเรียนรู้การดำเนินงานในโครงการชีววิถี จ.กระบี่ ของกฟผ.

        อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้ดำเนินการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี 2537 เนื่องในวโรกาสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ 50 ปี โดยรับพื้นที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาปลูกจำนวน 384,000 ไร่ ต่อจากนั้นก็ดำเนินโครงการการสนองพระราชดำริต่าง ๆ  จวบจนวันนี้ 23 ปี ได้ดำเนินการปลูกป่ามาแล้ว 460,000 ไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำส่วนใหญ่ จะมีป่าพรุ ป่าชายเลน ประมาณ 20,000 ไร่ และต่อไปจะเน้นการปลูกป่าชายเลนให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นระบบนิเวศน์ที่สร้างห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำต่าง ๆและได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมและพัฒนาชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. อีกด้วย

                                                      ----------------------

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ