ข่าว

เปิดแผนระบายน้ำท่วมลุ่ม‘เจ้าพระยา’ตอนล่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผนระบายน้ำท่วมทุ่ง‘เจ้าพระยา’ "ฝั่งตะวันตก-ท่าจีน"รับแทนคนกรุง          

 

           โชคดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาไล่ตั้งแต่จ.ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานีจนกระทั่งทุ่งรังสิตให้เร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายน 2560(ปัจจุบันเก็บเกี่ียวทั้หมดแล้ว)เพื่อจะใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นแก้งลิมรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์เมื่อดีเปรสชั่นลูกแล้วลูกเล่าพัดผ่านประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวกลายเป็นแก้มลิงธรรมชาติไปโดยปริยาย โดยผ่านการรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและขวาและระบายน้ำที่เหลือผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา แต่ทั้งนี้ต้องสร้างการรับรู้และยิมยอมจากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนจังหวัดให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ผ่านมาการระบายน้ำเข้าทุ่งของกรมชลประทานก็เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว

เปิดแผนระบายน้ำท่วมลุ่ม‘เจ้าพระยา’ตอนล่าง

             “ทุ่งฝั่งตะวันออกสามารถรับน้ำได้ประมาณ 437 ล้านลบ.ม.ปัจจุบัน(28 ต.ค.)เต็มศักยภาพแล้ว ส่วนทุ่งฝั่งตะวันตกความสามารถในการรับน้ำอยู่ที่ 1,077 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน(28 ต.ค.)รับน้ำไปแล้ว 973.24 ล้าน

 ลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 103.76 ล้าน ลูกบาศก์เมตร”ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานเผยข้อมูลระหว่างนำคณะลงพื้นที่ตรวจสภาพน้ำในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุอีกว่าขณะนี้น้ำเหนือที่นครสวรรค์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงตามไปด้วย พร้อมยืนยันยังคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาทีและยังไม่มีแผนที่จะระบายน้ำเพิ่ม

           แม้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนเริ่มดีขึ้น หลังปริมาณน้ำในแม่เจ้าพระยาบริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ลดลงเหลือ 2,979 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กรมชลประทาน ยังคงปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาทีมาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน(28 ต.ค. 60) โดยได้แบ่งรับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบางส่วน เข้าสู่ระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวมประมาณ 769 ลบ.ม./วินาที โดยไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด 

เปิดแผนระบายน้ำท่วมลุ่ม‘เจ้าพระยา’ตอนล่าง

       อธิบดีกรมชลประทานย้ำว่าขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ไหลมาถึงบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครแล้ว โดยไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่แต่อย่างใด ยกเว้นบางพื้นที่อยู่นอกคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 14 จุด เท่านั้น อีกทั้งปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอัตราการไหลเฉลี่ย 2,826 ลบ.ม./วินาที ยังต่ำกว่าความจุของลำน้ำมาก โดยบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อย่างใด

       สำหรับกรณีของคลองรังสิต นั้น เนื่องจากต้องแบ่งเบาปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเขื่อนพระรามหก ด้วยการเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์มากขึ้น ส่งผลให้น้ำในคลองต่าง ๆ รวมถึงคลองรังสิต มีระดับน้ำสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ เนื่องจากในคลองเหล่านี้จะมีอาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำที่จะควบคุมปริมาณน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด

        ส่วนของการนำน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน( 28 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำในทุ่ง รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,418 ล้าน ลบ.ม. ทางกรมชลประทาน ได้วางแผนทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งทีละทุ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 60 จนถึงม.ค. 61 โดยจะเริ่มตั้งแต่ทุ่งบางระกำ ไล่ลงมาจนถึงทุ่งสุดท้ายคือทุ่งโครงการฯโพธิ์พระยา เพื่อให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

          สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 953 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ ขณะนี้ระบายน้ำวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 500 – 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้จะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่างผ่านคลองระพีพัฒน์ ในอัตราเฉลี่ย 120 – 160 ลบ.ม./วินาที เพื่อแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักลงสู่คลองรังสิตก่อนที่จะระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยจะควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในคลองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นริมคลองที่น้ำไหลผ่าน

       โดยกรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำ จากกองทัพเรือ ติดตั้งในบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำลง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 14 เครื่อง ในบริเวณคลองระพีพัฒน์ ไซฟ่อนพระธรรมราชา ไซฟ่อนพระอินทราชา คลองเปรมประชากร ประตูระบายน้ำคอกกระบือ ประตูระบายน้ำบางน้ำจืด และบริเวณท้ายท่อระบายน้ำบึงฝรั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

        ในส่วนของลุ่มน้ำท่าจีนช่วงวันที่ 27 ต.ค.ถึง 5 พ.ย. 60 จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ในอัตราที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน พร้อมกับรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบด้วย ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล ทุ่งบ้านแพน ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งป่าโมก และทุ่งผักไห่ โดยจะสูบน้ำและเปิดระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนตอนล่างตามความเหมาะสม 

       ทั้งนี้กรมชลประทานได้ติดตั้งเรือผลักดันน้ำ 55 ลำ บริเวณจ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และเครื่องผลักดันน้ำของกรมชลประทานอีก 53 เครื่อง ติดตั้งบริเวณ จ.นครปฐม เพื่อเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด

      อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการปริมาณน้ำในทุ่งหรือแก้มลิงธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนเป็นหลัก หลังจากที่ได้ระบายน้ำในแม่น้ำทั้งสองที่รับมาจากพื้นที่ตอนบน ลงทะเลจนระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว จึงจะเริ่มระบายหรือสูบน้ำในทุ่งต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำผ่านระบบชลประทาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านแต่อย่างใด 

วอนรัฐช่วยดูแลชาวบ้านในพื้นที่แก้มลิง 

            สุรินทร์ แสงคาว ชาวนาในต.บ้านไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับน้ำทุ่งเจ้าจ็ดกล่าวยอมรับชะตากรรมน้ำท่วมในปีนี้ว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2554 ที่สำคัญหน่วยงาราชการมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ ว่าน้ำจะมาถึงเมื่อใดทำให้สามารถเตรียมตัวได้ทัน ขณะเดียวกันข้าวที่ปลูกไว้ก็สามารถเก็บเกี่ยวเสร็จพอดี จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ยกเว้นการใช้ชีวิตประจำวันในการเดินทาง  เนื่องจากถนนถูกน้ำท่วมหมดรถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต้องใช้เรือแทน 

            “ระดับน้ำปัจจุบันก็เดือดร้อนอยู่เพราะทางเข้าหมู่บ้านน้ำท่วม ต้องใช้เรือ แต่ก็มีหน่วยราชการเข้ามาช่วยเหลือดูแลอยู่ตลอดนะ”

           ส่วนผลกระทบในการทำนานั้น เขาบอกว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะปกติจะทำนาปีละ 2 ครั้ง โดยจะเริ่มฤดูกาลทำนาครั้งต่อไปในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ทำให้ในช่วงนี้ไม่มีผลกระทบในอาชีพแต่อย่างใดเพียงแต่อาจจะขาดรายได้ในการประกอบอาชีพเสริม  แต่ปีนี้ก็ต้องหยุด เพราะเหตุน้ำท่วม จึงฝากไปยังรัฐบาลขอเรียกร้องให้ช่วยเหลือดูแลชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมด้วย

          "นโยบายที่รัฐบาลเปลี่ยนจากทำนาไปปลูกพืชอื่น อย่างที่นี่เขาให้ปลูกถั่วเขียว แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะไม่รู้ว่าปลูกแล้วมีตลาดรองรับไหม ราคาเป็นอย่างไร จะไปขายที่ไหน ชาวบ้านยังไม่รู้เลย มีแต่ส่งเสริมให้ปลูกอย่างเดียว ส่วนตนก็ยังยืนยันว่าจะปลูกข้าวเหมือนเดิมต่อ เพราะไม่มั่นใจในพืชตัวอื่น"ชาวนาคนเดิมกล่าวย้ำทิ้งท้าย         

              เปรม ณ สงขลา เจ้าของสวนเคหเกษตรในต.ระแหง อ.ลาดหลุ่มแก้ว จ.ปทุมธานีอยู่ใกล้กับคลองพระยาบันลือ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่รับน้ำเผยว่าเท่าที่ตระเวณสำรวจน้ำคลองขุดใหม่ อ.ลาดหลุมแก้วที่เชื่อมกับคลองพระยาบันลือพบว่าระดับน้ำยังรับได้อีก50-70 ซม.ก่อนจะล้นขึ้นมาท่วมถนน ปัจจุบันทุกคลองจะมีประตูน้ำกั้นเข้าคลองย่อย ทำให้ไม่มีปัญหาในการระบายน้ำ นอกจากเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมา หากไม่มีพายุใหญ่เข้ามาเติม โอกาสท่วมใหญ่แบบปี 2554 คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นปกติของฤดูน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ลุ่มเจ้าพระยา ที่สมัยก่อนจะมีการสร้างบ้านใต้ถุนสูงเพื่อรับน้ำท่วม มีเรือไว้สัญจรในฤดูน้ำหลาก แต่ปัจจุบันความเจริญของเมืองเข้ามา มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มมากขึ้น ขวางทางไหลของน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมนานกว่าปกติ

             "ปีนี้ปริมาณน้ำต่างจากปี 54 เยอะ อย่างที่สวนเมื่อปี 54 ท่วมหมด แต่ปีนี้ไม่ท่วม ปริมาณน้ำยังอยู่ในคลองเป็นปกติของฤดูน้ำหลาก แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงคือมีประตูระบายน้ำปรับปรุงใหม่เกือบทุกจุด หากไม่ล้นคลองก็สามารถจัดการได้ อย่างปี'54 ประตูระบายน้ำเกือบทุกบานใช้การไม่ได้เลย น้ำจึงมาเร็วและแรงแล้งยังมีใบสั่งของนักการเมืองทำให้การบริหารจัดการน้ำมีปัญหาอย่างที่รู้ ๆ กัน"เจ้าของสวนเคหเกษตรให้มุมมองทิ้งท้าย

     

 ตารางปริมาณการรับน้ำในแต่ละทุ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

      ชื่อทุ่ง                แผนการรับน้ำ(ล้านลบ.ม.)         ปริมาณน้ำในทุ่ง(ล้านลบ.ม.)        รับน้ำได้อีก(ล้านลบ.ม.

1.ทุ่งเชียงราก                80                                80                              เต็มศักยภาพ

2.ทุ่งฝั่งซ้ายชัยนาท-ป่าสัก   116                               116                             เต็มศักยภาพ

3.ทุ่งท่าวุ้ง                   84                                 84                              เต็มศักยภาพ

4.ทุ่งบางกุ่ม                130                               130                              เต็มศักยภาพ

5.ทุ่งบางกุ้ง                27                                 27                               เต็มศักยกภาพ

6.ทุ่งบางบาล-บ้านแพน     107                                107                             เต็มศักยภาพ

7.ทุ่งป่าโมก                50                                 50                              เต็มศักยภาพ

8.ทุ่งผักไห่                 200                                200                            เต็มศักยภาพ

9ทุ่งโพธิ์พระยา            160                                 160                            เต็มศักยภาพ

10.ทุ่งเจ้าเจ็ดบางยี่งหน    560                                 456.24                             103.76

11.ทุ่งพระยาบรรลือ       รับน้ำผ่านทุ่ง 100 ลบ.ม./วินาที       -                                   -

12.ทุง่รังสิตใต้            สำรองรับน้ำผ่านทุ่ง 80 ลบ.ม./วินาที   -                                   -

รวม                    1,514                                 1,410.24                           103.76

ที่มา: กรมชลประทาน (ณ 27 ต.ค.60)

          

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ