ข่าว

เนรมิตตลาดกลางสินค้าเกษตร19แห่งเบิกทางสู่ค้าเสรีไทย-เมียนมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เนรมิตตลาดกลางสินค้าเกษตร19แห่งเบิกทางสู่ค้าเสรีไทย-เมียนมา

          นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของประเทศของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เน้นให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจโลกนั้น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงได้กำหนดกรอบการสร้างความเข้มแข็งระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด“Local Economy 4.0” ขึ้นมา  โดยการพัฒนาและยกระดับตลาดกลางสินค้าเกษตร” เน้นให้ความสำคัญกับความร่วมมือของคนในชุมชน โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน 

         “ท่องโลกเกษตร”อาทิตย์นี้ มาดูความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายตลาดกลางสินค้าเกษตรของกรมการค้าภายใน  โดยอธิบดี"บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร"ที่มุ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของประเทศด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นจากภายในประเทศ  ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง“ตลาดกลางสินค้าเกษตร” ให้เป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มุ่งเน้นการขายส่ง โดยวิธีการต่อรองราคา

          ทั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรที่นำสินค้าเข้ามาขายในตลาดกลาง ขายสินค้าของตนเองสูงกว่าการซื้อขายในรูปแบบดั้งเดิมที่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองราคาได้สูงขึ้น และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายการตลาดเหมือนกับอดีต ที่ต้องขายสินค้าที่ต้องผ่านคนกลางหลายขั้นตอน  ซึ่งการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรดังกล่าว เพื่อให้เป็นกลไกในการพัฒนาการค้าให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

       "การพัฒนาสินค้าตามความต้องการของตลาดให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบตลาดกลาง เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อทุกภาคส่วน และให้การดำเนินงานภายใต้แนวคิด Local Economy ที่เชื่อมโยงต่อยอดการดำเนินงานในระบบห่วงโซ่อุปทานจากระดับชุมชนไปยังระดับภูมิภาค และเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้บังเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อการขยายตัวเศรษฐกิจการค้าของประเทศ"

         ส่วนการดำเนินงานจะมุ่งยกระดับตลาดกลางผักและผลไม้เป็นหลัก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการค้าภายในจำนวน 19 แห่งทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน โดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ เช่น SWOT Analysis  พร้อมเสนอแนวทางและแผนการพัฒนาส่งเสริมตลาดกลางฯ ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว นอกจากนี้ต้องศึกษา วิเคราะห์แนวทาง รูปแบบ และระเบียบ ข้อบังคับ การนำเข้าและส่งออกสินค้า เพื่อเชื่อมโยงการค้าไปยังตลาดต่างๆ ในภูมิภาคและตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการจัดทำหลักเกณฑ์และคัดเลือกตลาดกลางเป้าหมายอย่างน้อย 6 แห่งเพื่อวางแผนพัฒนาศักยภาพตลาดให้ได้มาตรฐานในโอกาสต่อไป

       “มีการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) กับประเทศเพื่อนบ้าน  เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมการค้าภายในได้ไปศึกษางานเพื่อพัฒนาและยกระดับตลาดกลาง ตามโครงการพัฒนาระบบตลาดภูมิภาครองรับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขณะเดียวกันทางเมียนมาก็ได้มาศึกษาดูงานในบ้านเราด้วย" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

      วรพันธ์ ประเสริฐยิ่ง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร1 กรมการค้าภายในได้สะท้อนกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างไทยกับเมียนมาร์ โดยระบุว่าเพื่อเปิดช่องทางการพบปะเจรจากันโดยตรง ระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจเมียนมา รวมถึงการรวบรวมข้อมูล การบริโภค และความต้องการผักผลไม้ของทั้งสองประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายส่งเสริม และสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศต่อไป

       ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบตลาดภูมิภาครองรับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน กรมการค้าภายใน  มองว่า ภายใต้โครงการ “Business Matching”มองว่า ในอาเซียนนั้น ต้องมีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องผลไม้ที่ไทยมีความหลากหลาย จำเป็นต้องหาตลาด เพื่อที่จะไปขายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย 

    "ประเทศเพื่อนบ้านก็ชื่นชอบผลไม้ไทยอยู่แล้ว อย่างเมียนมาก็ปลูกผลไม้มากเช่นกัน ฉะนั้นบางฤดูที่ไทยไม่มีผลไม้ควรนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ขณะที่เพื่อนบ้านก็ไม่ต้องส่งออกไปไกล  อย่างที่เมียนมาตอนนี้กำลังทำตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ชื่อตลาด “ตะยิงกอง”อยู่ห่างจากย่างกุ้ง 20 กม.เท่านั้นเอง ก็เป็นอีกตลาดค้าส่งผลไม้ที่น่าจับตาทีเดียว"รศ.ดร.อัทธ์ย้ำทิ้งท้าย

                                            .....................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ