ข่าว

กยท.ผนึกธกส.จุดประกายธุรกิจแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กยท.ผนึกธกส.จุดประกายธุรกิจแก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

                ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวทีแห่งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง SMEs จาก 40 แห่ง ประมาณกว่า 100 คน จะได้รับความรู้ ความเชี่ยวชาญจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ องค์ความรู้ และการต่อยอดพัฒนาธุรกิจกลับไปเป็นเม็ดเงินที่สร้างรายได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันทั้งจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ประสบความสำเร็จสามารถส่งขายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลก กับผู้ประกอบกิจการยางรายใหม่ที่มีความพร้อมนำผลิตภัณฑ์จากยางพาราก้าวสู่ตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะพัฒนาผู้ประกอบการในทุกมิติ ตั้งแต่การเป็นนักคิด นักการตลาดในการนำผลผลิตที่มาจากต้นยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และพัฒนาตนเองเป็นนักเทคโนโลยีควบคู่ด้วย เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ตรงถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องรู้ เข้าใจและเท่าทันเทคโนโลยี

                  ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตยางกำลังเผชิญกับกับปัญหาหลักๆ ที่สร้างผลกระทบต่อยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ ปัญหาโครงสร้าง ในฐานะผู้ส่งออกยางรายใหญ่ แต่ประเทศไทยกลับใช้ยางพาราภายในประเทศเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อราคา จึงจำเป็นต้องเพิ่มการใช้ทดแทนในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา และยังมีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตในประเทศไทยที่ยังคงสูง อย่างไรก็ตามการสร้างให้เป็นแบรนด์ยางพาราไทยที่ไม่มีประเทศใดสามารถลอกเลียนแบบได้ ตามระบบคุณภาพที่มีมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนและรายได้ที่เข้ามา ให้เกิดความคุ้มค่ากับการลงทุน ปัญหาด้านการกีดกันทางการค้า การลดปัญหาเรื่องนี้ ต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน เพราะโลกมีการติดต่อสื่อสารในเรื่องของข้อมูล ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานที่สากลยอมรับจะช่วยลดปัญหานี้ได้ ปัญหาแรงงาน ในอดีตมีคนเพียงพอที่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันปัญหาแรงงานเกิดขึ้นกับทุกภาคธุรกิจ รวมถึงภาคเกษตรอย่างสวนยางพารา ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดปัญหาได้

               “การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย ต้องมีความชัดเจนร่วมกัน ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ราคา และการส่งเสริมการขาย โดยต้องร่วมกันคิด เพื่อให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ สร้างให้เห็นเอกลักษณ์ของสินค้าอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์ และสิ่งสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์และคุณภาพ ทั้งนี้ ต้องบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน โดยรัฐเปรียบเหมือนศูนย์บ่มเพาะที่จะช่วยสนับสนุนให้ทั้งสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ให้เข้าใจในผลิตภัณฑ์และพัฒนาธุรกิจให้แข็งแรง สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง สร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ