ข่าว

เตรียมรับมือน้ำเหนือหลังปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านนครสวรรค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตรียมรับมือน้ำเหนือ หลังปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านสถานีC.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ไปแล้วอัตรา 2,859 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

                วันที่ 17 ต.ค.60 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าเมื่อเวลา 19.00 น. ของคืนวันที่ 16 ต.ค. 60 ที่ผ่านมาปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านสถานีC.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ไปแล้วในอัตรา 2,859 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงเช้าวันนี้(17 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 2,849 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.39 เมตร เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังคงงดการระบายน้ำต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด

                 สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกใน 1 เดือนข้างหน้า ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ยังควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยวันนี้   (17 ต.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวานนี้(16 ต.ค. 60) ถึง 06.00 น. วันนี้(17 ต.ค. 60) บริเวณจังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง ระดับน้ำเริ่มทรงตัวลดลง 2 เซนติเมตร ส่วนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบริเวณบ้านป้อม ระดับน้ำเริ่มทรงตัวลดลง 2 เซนติเมตร ที่บริเวณบ้านบางหลวงโดด ระดับน้ำเริ่มทรงตัวลดลง 1 เซนติเมตร แต่ที่บริเวณอ.บางบาล เพิ่มขึ้น 3 เซนติเมตร แนวโน้มระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มทรงตัวลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำเหนือบริเวณจังหวัดนครสวรรค์เริ่มลดลงแล้ว ประกอบกับกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง

               โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าไปรวมกันวันละ 583 ลบ.ม.ต่อวินาที และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่งรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ รวม 12 ทุ่ง ช่วยบรรเทาและลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้มากกว่า 1,202 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 310 ล้านลูกบาศก์เมตร
                     สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(17 ต.ค. 60)มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 57,442 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 33,916 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 72 สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,812 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,342 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 12,646 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 5,531ล้าน ลบ.ม.
              กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ นำถุงยังชีพและน้ำดื่ม เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่องแล้ว  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ