ข่าว

"สุวิทย์"แจงปรับแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เกษตรกรมีแต่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุวิทย์"แจงปรับแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เกษตรกรมีแต่ได้

           วันที่ 7 ต.ค.ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงชี้แจงกรณีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นการปรับแก้กฎหมายที่ยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก เกษตรกรไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ขอย้ำให้ทราบว่าเกษตรกรยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น หมายถึง ขยายความคุ้มครองไปถึงเฉพาะ “ผลผลิต” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบ เท่านั้นแต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ผลิตก็มีสิทธิในผลิตผลและผลิตภัณฑ์นั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง

            กรณีการปรับระยะเวลาคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิมพืชล้มลุก 12 ปี เป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 เป็น 25 ปี และพืชให้เนื้อไม้จาก 27 เป็น 25 ปี นั้น เนื่องจากในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ที่ดีมีศักยภาพออกสู่ตลาด จำเป็นต้องใช้ต้นทุนทั้งสติปัญญา เวลา และงบประมาณ ซึ่งการปรับช่วงเวลาที่นักปรับปรุงพันธุ์จะได้ประโยชน์จากพันธุ์พืชไร่และพืชล้มลุก และพืชยืนต้น ดังกล่าวนั้น เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมทางวิชาการ และทำให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา รวมทั้ง เกษตรกร ประชาชนทั่วไปนักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และได้จดทะเบียนคุ้มครองก็จะได้รับผลประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการคุ้มครองนี้ด้วยเช่นกัน

             อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับพันธุ์ที่ได้มาจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ตั้งต้นให้มีลักษณะที่แตกต่างเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือการผสมกลับแล้วได้พันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจากพันธุ์ตั้งต้น แต่ยังคงมีลักษณะสำคัญส่วนใหญ่เป็นของพันธุ์ตั้งต้น หรือ EDVs นั้น ในกรณีที่มีนักปรับปรุงพันธุ์รายอื่นนำเอาพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไว้แล้วไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนได้เป็นพันธุ์ EDV แล้วนำไปทำการค้า โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของพันธุ์ตั้งต้น จึงไม่เป็นธรรมกับนักปรับปรุงพันธุ์ตั้งต้น ซึ่งข้อกำหนดของกฎหมายนี้จะเป็นการปกป้องพันธุ์พืชใหม่ของเกษตรกร และนักปรับปรุงพันธุ์พืชของไทย

             นอกจากนี้การปรับแก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเอง เป็นแต่งตั้งทั้งหมดนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นและมีความต่อเนื่อง ทำให้ดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงปรับแก้ไขวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการ โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม

            ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางเว็บไซต์ใน ซึ่งเป็นขั้นตอนขั้นต้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการแสดงความคิดเห็นประกอบการเสนอต่อกระทรวงและ ครม. ตามลำดับต่อไป ถือเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานต้องทำการรับฟังความคิดเห็นทาง website โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเช่นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เปิดรับฟังความคิดเห็น ใน website ด้วยเช่นกัน

            “การปรับแก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการเสนอร่างพ.ร.บ. ให้สอดคล้องกับข้อมูลของอนุสัญญา UPOV1991 แต่ยังมิใช่เป็นการขอความเห็นชอบในการเป็นภาคี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่าเกษตรกรไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ และยังได้รับประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับสิทธิ์การคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกและให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ