ข่าว

สองฝั่งเจ้าพระยารับน้ำเต็มศักยภาพลดปริมาณน้ำไหลพื้นที่ล่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมชลรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งตะวันออก-ตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มศักยภาพ พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ลดปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

        9 ต.ค.60 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงวันที่ 9 - 11 ต.ค. 60 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน จะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลางและหย่อมความกดอากาศต่ำมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย 
        ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และในช่วงวันที่ 12 - 14 ต.ค. 60 หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศไทยได้สลายไปแล้ว แต่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งนั้น

        สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 9 ต.ค. 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,078 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,987 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 35,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 สามารถรองรับน้ำได้อีก 16,140 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 2,966 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,682 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,540 ล้าน
 ลบ.ม.

        สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ 9 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,468 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.07 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิม ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ อ.บางบาล อ.เสนา และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง

        กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าว โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 440 ลบ.ม. ต่อวินาที จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง

        นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ อาทิ บริเวณริมคลองชัยนาท – ป่าสัก ในเขต อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 2 เครื่อง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต อ.เมือง จ.อ่างทอง 1 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี 20 เครื่อง พร้อมกับปิดท่อลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้าไปส่งผลกระทบ และยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอ.เมือง จ.อุทัยธานี อีก 5 
เครื่องด้วย

        ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง จนถึงปัจจุบัน (9 ต.ค. 60) สรุปได้ดังนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 365 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484.66 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 849.66 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

         

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ