ข่าว

"ชลประทานภิวัฒน์"สู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกระดับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชลประทานภิวัฒน์"สู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกระดับ

             สมัยหนึ่งลัทธิการเมืองหนึ่งยใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง  สมัยต่อมากลยุทธ์การตลาดสินค้าใช้วิธีป่าล้อมเมือง โดยแจ้งเกิดในป่าแล้วค่อยลามเข้ามาในเมือง

             มาสมัยนี้ ศูนย์อาสาบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (ศบน.) ภายใต้โครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ดูเหมือนจะใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ในการเข้าถึงประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง

"ชลประทานภิวัฒน์"สู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกระดับ

      ศบน. นั้นเดิมทีชื่อศูนย์อาสาบรรเทาภัยแล้ง เริ่มจากการก่อสร้างฝายประชารัฐร่องแกนลึก Soil Cement ราคาถูกแต่ชาวบ้านแข็งแกร่ง และขยายตัวไปสู่การใช้ศาสตร์พระราชาช่วยเกษตรกรในการทำกิน สร้างอาชีพและรายได้ ด้วยการสูบน้ำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประหยัดและใช้ได้ดีในพื้นที่นอกเขตการไฟฟ้า การใช้ชลประทานระบบน้ำหยดเพื่อประหยัดและลดความสูญเสียน้ำ   ตลอดจนลดวัชพืช ทุกอย่างดำเนินด้วยกลยุทธ์ทำง่าย ใช้สะดวก ซ่อมแซมสบาย และรายได้ดีขึ้น

            เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก ทั้งโดยตรงจากการสร้างฝายประชารัฐ การขุดสระน้ำ บ่อบาดาล และการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยต้นทุนต่ำ ตอบโจทย์ศาสตร์พระราชาในหลาย ๆ ด้านอย่างน่าสนใจ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการสร้างแหล่งน้ำตั้งแต่ฝายยันสระและบ่อบาดาล

             ล่าสุด ศูนย์อาสาบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีเด็กนักเรียนภายใต้การนำของครูเดินทางมารับการอบรมและดูงาน ตลอดจนมีการลงมือทำด้วยตนเอง

             ศบน. มีกิจกรมการอบรมที่หลากหลาย ตั้งแต่แบบหรือโมเดลของโครงการชลประทานต่างๆ มากมาย  โมเดลของฝายแบบต่างๆ และโมเดลการทำงานของโซลาร์เซลล์ที่พ่วงระบบสูบน้ำให้ได้เห็น จับต้อง สัมผัสได้ เป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง

"ชลประทานภิวัฒน์"สู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกระดับ

              ภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 6 เล่าว่า เป็นงานที่ ศบน. ทำอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2558 ฝายร่องแกนลึก Soil Cement มีแบบจำลองให้เห็นหลายแบบ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสก่อสร้าง 47 ฝาย ซึ่งฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ฝายทั้งหมดยังคงแข็งแรง ไม่พังทลายเลย เพราะอาศัยแนวคิดของนายช่างชลประทานจิตอาสาใน ศบน.

             ขณะเดียวกัน มีการต่อยอดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ด้วยการใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ขุดสระ และเพิ่มเติมด้วยการขุดบ่อบาดาล รวมทั้งชลประทานระบบน้ำหยดที่มีต้นทุนต่ำจากพลังงานแสงอาทิตย์และประหยัดน้ำ  พร้อมกับปลูกพืชที่หลากหลายตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

           ในช่วงเดือนกันยายน 2560 จะมีคณะครู นักเรียน และเกษตรกร เดินทางมารับการอบรมในหัวข้อต่าง ๆ เช่น น้ำมาจากไหน เกษตรทฤษฎีใหม่  ฝายชะลอน้ำแบบร่องแกนลึก เพื่อเก็บกักน้ำบนดินและใต้ดิน ชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบ 3 ฤดู ระบบกระจายน้ำแบบชลประทานน้ำหยด

          “แต่ละคณะอบรมภายในวันเดียว ดังนั้น คนที่รับการอบรมอาจไม่สามารถรู้กระจ่างทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยจะมีเรื่องที่พวกเขาสนใจเป็นตัวนำไปสู่เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องได้”

          นอกจากอบรมให้ความรู้แล้ว ยังสาธิตการทำงานของโมเดลต่างๆ ตลอดจนของจริงให้ดูด้วย และให้นักเรียนวาดแปลงไร่นาในความคิดของตัวเองเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และนำเสนอหน้าชั้นเรียน

         “เป็นการทบทวนความรู้ โดยนำไปวาดเป็นภาพให้เข้าใจดีขึ้น ต่อไปเด็กๆ สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตได้”

          ภัทรพลย้ำว่า การที่มีคณะครูและเด็กนักเรียนมาเข้ารับการอบรม เป็นผลสืบเนื่องจากครูร่วมดูงานที่นี่ร่วมกับเกษตรกรมาก่อน และเห็นผลสัมฤทธิ์ในพื้นที่ตัวเองจากฝายที่ ศบน. ก่อสร้างคงเหลืออยู่เพียงตัวเดียวโดดๆ  ในขณะที่ฝายอื่นอีก 4-5 ตัวกลับพังทลายจากฤดูน้ำหลากหมด

           “ครูคุยกัน และเห็นพ้องว่า หากนำเด็กนักเรียนมาดูจะเกิดประโยชน์ บางแห่งขอมาทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 เราก็แบ่งเป็นกลุ่มๆ ใกล้เคียงกัน อบรมให้ความรู้ ซึ่งที่นี่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์การเรียน การสอน และการสาธิตอยู่แล้ว ในขณะครูมีเครือข่ายสื่อสารต่างโรงเรียนกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ด้วยกัน จึงมีหลายโรงเรียนขอมาที่นี่”ภัทรพลกล่าว

            เฉพาะสัปดาห์นี้ตั้งแต่วันที่ 25-29 กันยายน 2560 จะมีคณะครูและนักเรียนเข้ารับการอบรมตลอดทุกวัน วันละ 100 คน

           “ทุกโรงเรียนมีแปลงปลูกในโครงการโรงเรียนพอเพียงอยู่แล้ว เด็กๆ สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ชลประทานน้ำหยดที่นอกจากประหยัดน้ำแล้ว ยังลดวัชพืชได้ด้วย เพราะให้น้ำเฉพาะโคนต้นพืชไม่กระจายถึงวัชพืช หรือระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์ เซลล์”

          ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างเผยว่า ชลประทานภิวัฒน์ เป็นคำใหม่ แต่มีความหมายที่ไกลกว่าแค่การพัฒนาแหล่งน้ำหรือบริหารจัดการน้ำในระบบอย่างเดียว หากไปไกลถึงความต้องการแท้จริงของเกษตรกร และการติดอาวุธทางปัญญาที่ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างสรรค์กระบวนการผลิต พืชที่ปลูก ในต้นทุนต่ำ เพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยงไปในตัว

           ศบน. ของโครงการก่อสร้าง สชป.6 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นและการจุดประกายชลประทานภิวัฒน์อย่างน้อยก็ระดับหนึ่งและน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกรมชลประทานและเกษตรกรไทย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ