ข่าว

การมีส่วนร่วมทางออกปัญหาของเกษตรกรอยู่ปลายน้ำเขื่อนลำปาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การมีส่วนร่วมทางออกปัญหาของเกษตรกรอยู่ปลายน้ำเขื่อนลำปาว

 

       ปัญหาการส่งน้ำชลประทานไปไม่ถึงปลายคลอง น่าจะเป็นวาระแห่งชาติเสียจริง เพราะพื้นที่การเกษตรที่ไหนๆ  ล้วนมีปัญหานี้ร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น
       เวทีการมีส่วนร่วมของเกษตรกรกลุ่มบริหารการใช้น้ำเศรษฐกิจมิตรสัมพันธ์ ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จึงมีเรื่องราวเหล่านี้ ด้วยถ้อยคำเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ จนน่าแปลกว่า  ชนบทไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 
        ถามปัญหาเรื่องน้ำจากเกษตรกร ไม่ว่าน้ำไม่ถึงปลายคลอง วัชพืชในคลอง สันคลองต่ำ ฯลฯ ทุกคนก็ชี้ไปที่เจ้าหน้าที่ชลประทาน พร้อมทั้งบอกว่า ชลประทานต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ 
        สรุป เป็นเรื่องของชลประทานต้องรับผิดชอบและแก้ไขให้ทั้งสิ้น ไม่มีข้อใดที่เกษตรกรในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากน้ำต้องรับผิดชอบแม้แต่ปลายก้อย
       เกษตรกรเองก็ไม่สำเหนียกว่า  บางปัญหาเจ้าหน้าที่ก็แก้ไม่ได้เร็ว โดยเฉพาะงบประมาณ ข้าราชการนั้น มาแล้วก็ไป มีการโยกย้าย หมุนเวียนไปที่อื่น ตำแหน่งอื่น หรืออัตรากำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับพื้นที่รับผิดชอบกว้างใหญ่ไพศาล ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ตัวเกษตรกรเองน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้วย
       เพราะไม่มีใครรู้ปัญหา และแก้ปัญหาได้ดีเท่าคนในชุมชนเอง
       ปัญหาของกลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำเศรษฐกิจมิตรสัมพันธ์ โดยสรุปคือ วัชพืช ตะกอน ท่อผี อาคารชลประทานชำรุด  ไม่ได้แตกต่างจากปัญหาของกลุ่มอื่นเลย
          เป็นปัญหาที่ไม่ร่วมแก้ไขเสียแต่ต้น ทั้งชลประทานและเกษตรกร ต่างคนต่างทำ หรือต่างคน ต่างไม่ทำ  วัชพืชจึงหนาแน่น ท่อผีจึงอาละวาด น้ำไม่ถึงปลายคลอง และ ฯลฯ จนกระทั่งปัญหาเป็นฝีกลัดหนองใกล้ระเบิดเต็มแก่  เวทีการมีส่วนร่วมทั้งหลาย ล้วนมีอาการของโรคนี้ทั้งสิ้น 
         พื้นที่ส่งน้ำของเขื่อนลำปาว 3 แสนกว่าไร่ มีคลองส่งน้ำยาว 600 กิโลเมตร  คูส่งน้ำ 1,157 สาย ยาวประมาณ 2,300 กิโลเมตร มีข้าราชการ 18 คน พนักงานราชการส่วนหนึ่งและลูกจ้างประจำ 90 คน จากที่เคยมี 350 คน  เป็นตัวเลขที่ไม่ต้องเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ และไม่อาจทำเองได้  เว้นแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร
          “แรกๆ ชาวบ้านก็พูดแรง  ให้ชลประทานทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ จัดงบกำจัดวัชพืช เอางบแก้ไขอาคารบังคับน้ำที่ถูกทำลาย คือทุกอย่างชลประทานต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ไข” นายอำนาจ วรรณมาโส  หัวหน้าฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ซึ่งรับผิดชอบกระบวนการมีส่วนร่วมแต่ต้น เล่าบรรยากาศเวทีการมีส่วนร่วม
           ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาก็เป็นไปเฉพาะหน้า เช่น คูขาด น้ำไหลออกจนส่งไม่ถึงปลายคู ก็แก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำจากแม่น้ำพานเข้าปลายคูให้ย้อนมาต้นคู โดยชลประทานจัดหาเครื่องสูบน้ำให้ น้ำมันเป็นของ อบต. กับชาวบ้าน ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณในระยะยาว
          เช่นเดียวกับ น้ำส่งมาล่าช้า ไม่ทันใจก็เจาะท่อผี โดยไม่คำนึงว่า จะเกิดผลกระทบหนักข้อขึ้น
          หรือกรณีกล่าวหาว่า ท้องคลองตกเป็นท้องช้างหรือคลองเหิน ซึ่งเป็นข้อฝังใจในแทบทุกเวทีว่า เป็นเพราะชลประทานก่อสร้างไม่ดี เมื่อเดินสำรวจพิสูจน์ก็ไม่เป็นไปเช่นนั้นไม่ 
            “สุดท้าย  หลังพูดคุยสร้างความเข้าใจและเรียนรู้ เกษตรกรก็ตระหนักว่า จะหวังพึ่งพาภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้อีกแล้ว  เพราะมีปัญหาหลากหลายด้าน งบประมาณก็มีจำกัด ทางที่ดีต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เช่น การจัดรอบเวรใช้น้ำ  การกำจัดวัชพืชและตะกอน ”
           ถ้าเกินกำลังก็ค่อยเสาะแสวงหาความช่วยเหลือเป็นระดับชั้นและให้ถูกช่องทาง ตั้งแต่ อบต. อำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง
          “ตอนปิดเวทีชุมชน เกษตรกรคนหนึ่งตะโกนเป็นภาษาอีสาน มีความหมายว่า  หายโง่แล้วๆ”
ที่จริงแค่เป็นความไม่รู้ และแก้ไขด้วยความรู้ได้ เวทีชุมชนเป็นเวทีแสวงหาความรู้ และมีพลังที่จะขับเคลื่อนปัญหาเล็กไปจนถึงปัญหาใหญ่ได้
           จุดเด่นของลำปาวคือกระบวนการพูดคุยหาสาเหตุของปัญหา แล้วยังแตกลึกลงไปเรื่อยๆ จนค้นพบคำตอบของสาเหตุที่แท้จริงได้ ยกตัวอย่าง ประเด็นสาเหตุที่น้ำไปไม่ถึงปลายคลอง ประกอบด้วย มีวัชพืช มีตะกอนดิน คลองมีรอยแตกร้าว
            กระบวนไล่ปัญหา เริ่มที่วัชพืช ทำไมถึงมีวัชพืช คำตอบคือ ไม่ได้ทำความสะอาดคลอง  สาวลึกลงไปว่าทำไม? มีรับคำตอบว่า  ไม่ใส่ใจ เห็นแก่ตัวและขาดการประชาสัมพันธ์ อีกคำตอบระบุว่า ไม่ปฏิบัติตามกติกา ไล่สาเหตุพบว่า ไม่ทราบกติกาและเป็นความเคยชิน
           ไล่กันจากประเด็นหลักไปสู่ประเด็นย่อย เพื่อให้เข้าถึงสาเหตุแท้จริงจะแก้ไขได้ถูกจุด
เช่นเดียวกับปัญหาท่อผีส่วนหนึ่งที่ส่งน้ำไปไม่ถึงปลายคลอง ถ้าไม่ไล่ปัญหาสาเหตุของท่อผีก็อาจจบลงที่อุดท่อผีทิ้ง ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอย่างถึงแก่น อีกหน่อยจะมีท่อผีใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อีก ไม่สิ้นสุด 
             “ต้องไล่สาเหตุให้สุดทาง ยิ่งสาวลึกก็ยิ่งรู้สาเหตุแท้จริง ถึงจะแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้อย่างยั่งยืน” นายอำนาจ วรรณมาโส เล่าถึงเทคนิคการแกะหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงให้พบ
             นี่ขนาดจัดเวทีชาวบ้านไปไม่กี่ครั้ง แต่เริ่มเห็นผลตรงที่ชาวบ้านเองเริ่มเห็นถึงเหตุปัจจัยปัญหาน้ำอย่างแท้จริง และเข้าใจว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนด้วย
              นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทานยอมรับว่า  กรณีของลำปาวถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการค้นหาสาเหตุแท้จริงของปัญหา จะทำให้การแก้ไขลงลึกได้ถึงแก่น และเกษตรกรเรียนรู้พึ่งตนเองมากขึ้น  เพราะตระหนักแล้วว่าแท้จริงตัวเองก็มีพลังพอที่จะแก้ไขบางปัญหาได้ โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนเคย
              “เป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนเข้มแข็ง และต้องเสริมให้พัฒนาศักยภาพมากขึ้น ต่อไปจะสามารถจัดการกับทุนของชุมชนที่มีอยู่มากมายให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น แก้ไขความขัดแย้งได้ดีขึ้น” 

 
        
    

    
    
    
    
    
    
    

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ