ข่าว

“แม่ตาช้าง”ตัวอย่างบูรณาการมีส่วนร่วมการสร้างอ่างเก็บน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“แม่ตาช้าง”ตัวอย่างบูรณาการมีส่วนร่วมการสร้างอ่างเก็บน้ำ

 ชาวชุมชนแม่ตาช้าง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย     น่าจะเป็นชุมชนแรกๆ ที่มีบทบาทศึกษาโครงการควบคู่ไปกับบริษัทที่ปรึกษา

            ความจริง “แม่ตาช้าง” เป็นชื่อลำน้ำที่ชาวบ้านท้าวแก่นจันทร์ ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เรียกร้องให้สร้างเขื่อนปิดกั้นเพื่อจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหล่อเลี้ยงชุมชน แต่ก็ไม่เคยสำเร็จตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

            ชุมชนแม่ตาช้างอยู่บนที่สูง การไม่มีอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุนคือความยากลำบาก โอกาสอื่นที่จะได้น้ำไม่มีเลยก็แทบว่าได้

            เดิมทีชาวชุมชนอาศัยฝายท้าวแก่นจันทร์กั้นลำน้ำแม่ลาว แต่ประสบปัญหาน้ำไม่แน่นอนและเพียงพอ ชาวบ้านจึงร่วมลงชื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่สรวย โดยหวังจะได้น้ำส่งไปให้ชุมชนตัวเอง

            แต่เขื่อนแม่สรวยไม่ใช่คำตอบ  ไม่สามารถส่งน้ำได้เพราะติดลูกเนินขวางอยู่ และแม้นำน้ำข้ามเนินมาได้ก็ช่วยพื้นที่ ต.ป่าแดด ได้เพียง 3,000 ไร่ จากหลายหมื่นไร่ ไม่คุ้มลงทุน

            จึงมีการเรียกร้องให้กรมชลประทานก่อสร้างเขื่อนแม่ตาช้าง ซึ่งเคยศึกษาความเหมาะสมโครงการมาแล้ว และเป็นที่มาของการนำเอางานชลประทานท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของประชาชน

            ภายในกรมชลประทานเองก็บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายใน 5 หน่วยด้วยกัน ตั้งแต่สำนักงานชลประทานที่ 2 สำนักบริหารโครงการ สำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน เมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนแม่ตาช้าง ซึ่งมุ่งหวังให้ชุมชนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ตั้งแต่เรื่องความคิดและพัฒนาการมาเป็นความต้องการของชุมชน ตลอดจนกระบวนการแก้ไขปัญหา ทำให้บรรลุถึงจุดที่ชุมชนสามารถตั้งโจทย์และตอบโจทย์โดยตัวเองได้

            อย่างเช่น จุดที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อน ซึ่งมีความเห็นต่างกันหลังศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกจุดที่กรมชลประทานศึกษามาซึ่งเก็บน้ำได้ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอในพื้นที่ 32,000 ไร่ ในขณะจุดที่เกษตรกรเสนอเก็บน้ำได้ 11.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่ได้เพียง 11,000 ไร่

            ผลจากกระบวนการมีส่วนร่วม ยังพบด้วยว่านอกจากปัญหาน้ำแล้ว ยังมีปัญหาทำลายป่า เผาป่า ปัญหายาเสพติด สื่อลามก อาชญากรรม การใช้สารเคมีเกษตรเกินขนาด ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ เป็นโจทย์ให้ไปไขคำตอบต่อไปอีก

            ความเข้มแข็งและกระตือรือร้นของชุมชนเขยิบไปถึงชั้นชุมชนแม่ตาช้าง ขอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาร่วมกับทีมบริษัทที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง

            กรมชลประทานในฐานะผู้ว่าจ้างก็ไม่ขัดข้อง เพราะเท่ากับเสริมความแข็งแกร่งให้โครงการ มีความรอบด้านมากขึ้นและตอบโจทย์ชุมชนตั้งแต่ต้น ลดข้อโต้แย้งในชุมชนได้มาก  ทำให้ขับเคลื่อนโครงการได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

             กฤตย์ สวาสดิ์มิตร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า  ความสำเร็จนี้ใช้เวลาในการบ่มเพาะทีมชลประทานท้องถิ่น ซึ่งมีชาวบ้านเป็นตัวหลัก หน่วยงานชลประทานเป็นเพียงพี่เลี้ยง เพราะมุ่งหวังให้รับรู้ปัญหาโดยชุมชนเอง แก้ปัญหาโดยชุมชนเอง กระบวนการมีส่วนร่วมนี้มีการจัดเวทีใหญ่เกือบ 10 ครั้ง เวทีย่อยในหมู่บ้านและผู้นำชุมชนหลายครั้ง และทุกครั้งจะมีผู้เข้าร่วมทุกรุ่นอายุด้วย

            “แรกๆ ชาวบ้านจะงง เพราะประชุมบ่อย ซักถามประวัติชุมชน พัฒนาการของชุมชน ชาวบ้านนึกแค่ว่าจะมีอ่างเก็บน้ำ ไม่ใช่ต้องมาตอบคำถามอะไรมากมายอย่างนั้น พวกเขาเพิ่งมาบางอ้อทีหลังว่า น้ำเรื่องเดียวเกี่ยวพันกับทุกอย่าง ตั้งแต่รถไถนาจนไฟแนนซ์”

            สุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า การที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการศึกษาโครงการร่วมกับบริษัทที่ปรึกษานั้น เป็นข้อที่ดีมาก และสะท้อนว่าชุมชนสามารถพัฒนาตัวเองเข้มแข็งได้ถ้าเปิดโอกาสให้เขาได้ทำ

              “ลำพังบริษัทที่ปรึกษาเป็นคนนอกพื้นที่ ไม่อาจเข้าใจบริบทภายในชุมชนได้ลึกซึ้ง ตอบโจทย์ชุมชนได้ไม่ครอบคลุม แถมมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ต้องรีบศึกษาและจัดทำรายงานเสนอ แต่ทีมชลประทานท้องถิ่นจะมีทีมย่อยจัดประกบไปพร้อมกับทีมบริษัทที่ปรึกษา ทำให้การทำงานกระชับขึ้น รับรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชนได้เร็วยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น”

              ชุมชนแม่ตาช้าง น่าจะเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็งที่สามารถศึกษาวิจัยร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกได้เป็นอย่างดี

             ที่สำคัญ โครงการชลประทานจะตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการแท้จริงของชาวบ้านอย่างตรงจุดมากขึ้น เกิดประโยชน์คุ้มค่าการลงทุนโครงการต่างๆ

                       

*****************************

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ