ข่าว

เปิด 9 แผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 9 แผนจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เตรียมอนุมัติหมื่นล้าน “บางบาล-บางไทร”        

 

       ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร)ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย.60 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ก็มีการมติอนุมัติหลักการในการเตรียมความพร้อมโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณจุดแคบสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในระยะเร่งด่วน 

      โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานระยะเร่งด่วนในกิจกรรมดังต่อไปนี้ คือ 1.กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการสำรวจ-ออกแบบรายละเอียด และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ และ 2.การดำเนินการในกระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้างและงานเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการก่อสร้างได้ในปี 2562

     พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงเหตุผลและความจำเป็นในการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบริเวณที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นช่วงที่ลำน้ำมีลักษณะเป็นคอขวด และริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นชุมชนเมือง รวมทั้งโบราณสถานหลายแห่ง ไม่สามารถขุดลอก ปรับปรุง หรือขยายได้ โดยปัจจุบันมีความสามารถในการระบายน้ำตรงจุดที่แคบที่สุดได้ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาให้ระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม จะสามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านท้ายน้ำ

       “ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถึงอ่าวไทย และเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรใน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.ผักไห่ และอ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 229,138 ไร่”

      พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการประชุมครม.สัญจรว่าที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบหลักการ 9 แผนงานแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ระยะทาง 22.4 กิโลเมตร แต่เบื้องต้นยังไม่อนุมัติแผนงานและงบประมาณ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายวรศาสตร์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขานุการ ไปศึกษารายละเอียดโครงการและเชื่อมโยงแผนแก้ปัญหาน้ำทั้งประเทศ รวมถึงผลกระทบด้านต่างๆ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก คาดว่าการจัดทำรายละเอียดจะแล้วเสร็จและสามารถนำรายงานเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า    

       สำหรับรายละเอียดแผนงานโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 9 แผนที่กรมชลประทานได้ศึกษาไว้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ เผยว่าแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แผนงาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แผนงาน และในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 4 แผนงาน  โดยฝั่งตะวันออก 3 แผนงาน ประกอบด้วย 1.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในช่วงน้ำหลากได้ถึงประมาณ 930 ลบ.ม.ต่อวินาที 2.แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ที่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์ และคลองสาขาต่างๆ รวม 23 คลอง ยาว 490 กิโลเมตร สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากสูงสุดในปัจจุบันคือ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที และ 3.แผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที

      ส่วนฝั่งตะวันตก 2 แผนงานประกอบด้วย 1.แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน (อ่านล้อมกรอบ ) ซึ่งจะต้องมีการขุดคลองระบายน้ำหลาก (บายพาส) แม่น้ำท่าจีนบริเวณ อ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ขุดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนที่มีลักษณะเป็นกระเพาะหมูจำนวน 4 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่กิโลเมตรที่ 40 จากปากแม่น้ำขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายได้จาก 464 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 535 ลบ.ม.ต่อวินาที และ 2.แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานของโครงการชลประทานเดิมที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดมายังคลองพระยาบันลือ ต่อไปยังคลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย-มหาชัย และออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้จาก 50 ลบ.ม.ต่อวินาทีในปัจจุบันเป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที 

        ดร.สมเกียรติ เผยต่อว่าในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงานได้แก่ 1.แผนการขุดคลองระบายน้ำหลาก (คลองบายพาส) บางบาล-บางไทร หรือเจ้าพระยา 2 (อ่านในล้อมกรอบ) เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที 2.แผนการขุดลอกลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะขุดลอกเป็นช่วงๆ รวมระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที 3.แผนการสร้างเขื่อนป้องกันชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ ซึ่งมีจำนวน 14 แห่ง ขณะนี้ได้สร้างไปแล้ว 6 แห่งเหลืออีก 8 แห่งจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และ 4.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก โดยคลองสายนี้จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที 

         อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการทั้ง 9 แผนงานสามารถแยกดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปีนี้ อาทิ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เป็นต้น ในขณะที่บางแผนงานอาจจะแยกมาดำเนินในส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมในส่วนของการขุดลอกก็สามารถดำเนินการได้ทันที  ส่วนแผนงานแผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 แม้จะก่อสร้างทั้งโครงการได้ แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาอีไอเอและคาดว่าจะใช้วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท 

                          

 เจาะแผนพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก “แม่กลอง-ท่าจีน” 

        แม่น้ำ 4 สายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยไล่จากซ้ายมาขวาได้แก่ แม่กลองท่าจีนเจ้าพระยา และบางปะกงระหว่างแม่น้ำจะมีแผ่นดินกั้นอยู่ฝั่งตะวันออกจะมีคลองแสนแสบเชื่อมระหว่างเจ้าพระยาและบางปะกงขุดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญเชื่อมระหว่างเจ้าพระยาไปยังท่าจีนและในรัชกาลเดียวกันทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกเพื่อเชื่อมระหว่างท่าจีนกับแม่กลอง เพื่อสะดวกในการสัญจร

            คลองดำเนินสะดวก เริ่มขุดตรงปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ของแม่น้ำท่าจีน ไปทะลุแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงกราม มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร บริเวณสองฟากฝั่งคลองดำเนินสะดวกเต็มไปด้วยสวนกล้วยไม้และสวนไม้ผล อาทิ ชมพู่ ฝรั่ง ลำไย กล้วย มะพร้าว มะนาว ฯลฯ ถือเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

             สวนเกษตรเหล่านี้อาศัยน้ำจากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีนมาช่วยหล่อเลี้ยง ต่อมาภายหลังภารกิจของแม่น้ำท่าจีนมีมากขึ้นจนยากจะพึ่งพาได้ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำแม่กลองเป็นสำคัญ โดยอัดเข้ามาทางคลองดำเนินสะดวกผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.) บางนกแขวก

            พ้นจากเขตสวนลงไปทางใต้ คือทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีทั้งคุณและโทษต่อสวนผลไม้ย่านนี้ที่ว่าคุณคือสภาพน้ำกร่อยช่วยเพิ่มรสชาติผลไม้ให้อร่อยมากขึ้นที่ว่าโทษคือการบุกรุกของน้ำเค็มมากเกินไปส่งผลกระทบต่อไม้ผลถึงตายได้

            ก่อนถึงทะเลอ่าวไทยจึงมีโครงการพนังกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2538 ความยาว 62 กิโลเมตร โอบล้อมป้องกันพื้นที่ประมาณ 1.56 แสนไร่ ประกอบด้วย 3 จังหวัด 6 อำเภอ ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม ประกอบด้วย อ.บางคนที อ.อัมพวา และอ.เมือง ในขณะ จ.ราชบุรี ประกอบด้วย อ.ดำเนินสะดวก ส่วน จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย อ.บ้านแพ้ว และอ.เมือง ทว่าปัญหาสำคัญของพื้นที่นี้มี 2 ประการคือการขาดแคลนน้ำจืดและการรุกล้ำของน้ำเค็ม

             จะเห็นว่าภาวะภัยแล้งเมื่อปี 2557-2559 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่นี้อย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำต้นทุนจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ที่ไหลลงมาบรรจบเป็นแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง

            ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดที่ว่าหนักแล้ว หนักกว่านั้นคือน้ำเค็มหนุนสูงผ่านลำน้ำสาขาย่อยๆ ผ่านพนังกั้นน้ ำ(เดิม) มีความชำรุดทรุดโทรมทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ได้ง่าย แม้ว่าที่ผ่านมากรมชลประทานจะปรับปรุงซ่อมแซม แต่เนื่องจากเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมเฉพาะแห่งจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการกล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้จากผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน โดยระบุว่าจะต้องปรับปรุงแนวคันควบคุมน้ำทะเล 62 กิโลเมตร ไปตามแนวตามถนนเอกชัย-พระราม 2 จากประตูระบายน้ำ(ปตร.) บางนกแขวกวกลงมาก่อน แล้วย้อนขึ้นไปที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.) บางยาง พร้อมกับอาคารบังคับน้ำตามแนวคันควบคุมน้ำทะเล จำนวน 35 คลอง ซึ่งมีทั้งก่อสร้างใหม่ ปรับปรุงของเก่า และอาคารที่ยังใช้ได้อยู่ มาตรการเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำขึ้นมาได้ดีขึ้น

              ขณะเดียวกันคัดเลือกคลองที่มีศักยภาพในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง 68 คลอง มีทั้งกลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีน-แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 4 คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้ว จนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลอง และกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ จำนวน 42 คลอง

             “คลองธรรมชาติเดิมๆ ใช้งานมานานมีปัญหาตื้นเขินและมีการก่อสร้างบุกรุกลำน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำต่ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ในขณะเดียวกันเวลาส่งน้ำในฤดูแล้งจากแม่น้ำแม่กลองลงมาก็ส่งมาไม่สะดวก ไม่ได้รับบ้าง ถ้าปรับปรุงตรงนี้ได้จะทำให้การใช้น้ำจากแม่กลองประหยัดขึ้นและไม่ต้องส่งอ้อมผ่านคลองท่าสาร-บางปลา” ดร.สมเกียรติกล่าว

               แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้การเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาดีขึ้น การส่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้งจากเขื่อนแม่กลองลงมาในพื้นที่ก็ทำได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดน้ำต้นทุน และคันควบคุมน้ำเค็มก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พื้นที่ 1.56 แสนไร่ มีความมั่นคงด้านน้ำและยังคงเป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญของลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนต่อไป 

 องค์ประกอบคลองระบายน้ำ“บางบาล-บางไทร”

              สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรนั้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเขื่อนเข้าพระยาถึงปากแม่น้ำ โดยการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่เพื่อผันน้ำเลี่ยงเมืองพระนครศรีอยุธยาจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่ อ.บางบาล ถึง อ.บางไทร โดยสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง มีความยาวประมาณ 22.4 กิโลเมตร พร้อมถนนคันคลองทั้งสองฝั่งไป-กลับขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งโครงการประกอบด้วยอาคารบังคับน้ำและอาคารประกอบ 4 แห่ง อาคารจ่ายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำ 8 แห่ง สถานีสูบน้ำแบบ 2 ทางพร้อมอาคารประกอบ 28 แห่งเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณลุ่มต่ำ สะพานรถยนต์ข้ามคลอง 11 แห่ง งานป้องกันตลิ่ง 3 แห่งบริเวณ อ.ปบางไทร เป็นจุดที่แม่น้ำน้อยไหลบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาและคันกั้นดินโดยรอบพื้นที่โครงการและอาคารประกอบ โดยปรับปรุงจากคันดินเดิมให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น 

            ส่วนผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนอกจากจะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนถึงอ่าวไทยและเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตรใน จ.พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวมกว่า 229,138 ไร่แล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการบริโภคอุปโภคอีกด้วยและในส่วนผลกระทบจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยที่ดินทำกินของราษฎรรวม 3,605 ไร่ เป็นที่ดินที่มีผู้ถือครอง 3,281.69 ไร่ ในจำนวนนี้มีเอกสารสิทธิ 3,264.49 ไร่และไม่มีเอกสารสิทธิ 17.20 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้าน ที่พักอาศัย โรงเรือน ฯลฯ 493 หลัง คิดเป็นค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 1,825.64 ล้านบาท

             นายวิชิต อุสาหประดิษฐ์ ชาวบ้านตำบลบางชะนี อ.บางบาลยอมรับว่า ชาวบ้าน อ.บางบาล หนึ่งปีน้ำก็จะท่วม 3-4 ครั้ง ซึ่งบางปีมีปริมาณน้ำมากก็จะลำบากกว่าปกติ หากมีโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ก็จะช่วยระบายน้ำและจะเกิดศึกษาว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในพื้นที่อยุธยาและพื้นที่ภาคกลาง ทำให้พื้นที่เศรษฐกิจของอยุธยาไม่เกิดความเสียหายโดยเฉพาะโบราณสถาน และอยากจะใหภาครัฐดูแลจ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนในราคาที่สูงกว่าประเมิน ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐชดเชยอย่างเป็นธรรมประชาชนยินดีที่จะให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ