ข่าว

พลิกผืนป่าชุมชนในต.หนองเรือ ใช้ยางนาขยายพันธุ์“เห็ดเผาะ”  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกผืนป่าชุมชนในต.หนองเรือ ใช้ยางนาขยายพันธุ์“เห็ดเผาะ”  

             แม้ปัจจุบันมีเห็ดหลายชนิดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกร โดยการขยายพันธุ์จากการเขี่ยเชื้อจากสปอร์ที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นเห็ดฟาง นางฟ้า นางรมหรือขอนขาว ทว่ายังมีเห็ดอีกประเภทหนึ่งซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติไม่สามารถนำมาเพาะก้อนเชื้อขยายพันธุ์ได้ แต่จะทำได้โดยอาศัยรากไม้ป่ายืนต้น อาทิ ต้นยางนา ป่าเต็งรังในธรรมชาติ ในการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดประเภทนี้ อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดตีนแรด และเห็ดตับเต่า

พลิกผืนป่าชุมชนในต.หนองเรือ ใช้ยางนาขยายพันธุ์“เห็ดเผาะ”  

             “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้พาไปตะลุยอีสานบ้านท่าศาลา ต.หนองเรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น นำโดยรองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) “ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง” เพื่อไปดูผลสำเร็จจากการวิจัยการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เศษวัสดุในไร่นาเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน โดยผ่านกระบวนการเพาะเห็ดและเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติ ภายใต้การนำของ ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ แห่งกรมพัฒนาที่ดิน และคณะ โดยใช้พื้นที่เป้าหมายใน ต.หนองเรือ  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดในธรรมชาติสำคัญของจังหวัด โดยใช้ที่ผืนป่าชุมชนในหมู่บ้าน ในการเพาะและขยายพันธุ์ มีทั้งเห็ดเผาะ เห็ดตีนแรดและเห็ดตับเต่า ถือเป็นอาหารชั้นดีของคนในชุมชนและยังใช้พื้นที่บริเวณบ้านของตนเองทำโรงเรือนเพาะเห็ดเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ทั้งเห็ดฟาง นางฟ้า นางรมและขอนขาว สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านใน ต.หนองเรือ ได้เป็นอย่างดี   

              ดร.วิภารัตน์ กล่าวระหว่างเดินเยี่ยมชมผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรว่า วช.ตระหนักถึงสภาพปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีฐานะยากจนต้องการหาอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวด้วยการเพาะเห็ดขาย  แต่ยังขาดความรู้และประสบการณ์ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จและขาดทุน จึงได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการจัดการองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมประจำปี 2560

             “เกษตรกรใน ต.หนองเรือ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความกระตือรือร้นในการประกอบอาชีพเสริม โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการทำนา ซึ่งมีเวลาว่าง แต่ยังขาดองค์ความรู้ แหล่งเงินทุนและประสบการณ์ จากการสำรวจความต้องการอาชีพเสริมของเกษตรกร พบว่ามีความต้องการและสนใจการเพาะเห็ดเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมอยู่บ้าง แต่ไม่มาก ยังเป็นการใช้ความรู้ไม่ครบองค์รวมและไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน”

               ดร.อรทัย ศุกรียพงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เผยว่า หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ พบว่าเกษตรกรมีความต้องการองค์ความรู้ด้านการจัดการที่ดินในพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูกและการจัดการวัสดุในไร่นาจำพวกฟางข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งหากนำเศษวัสดุเหล่านี้มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินอย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชที่จำเป็นแก่ดิน ทำให้สามารถฟื้นฟูสภาพดินในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ลดการเผาทำลายอันเป็นวิธีการช่วยลดภาวะโลกร้อน นอกจากนั้นเศษวัสดุที่เหลือจากการปรับปรุงบำรุงดินยังสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดได้อีกด้วย

           “จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สภาพแวดล้อมในพื้นที่ ต.หนองเรือ มีป่าชุมชนกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เกือบทุกหมู่บ้าน จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเห็ดเผาะ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานกันมากขึ้นในหมู่คนอีสานแล้วยังขายได้ราคาดีด้วย ตอนนี้อยู่ที่ 300-400 บาทต่อกิโล” หัวหน้าโครงการวิจัยเผย

          ขณะที่ ดร.ถาวร วินิจสานันท์ นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านเห็ด มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงการเหนี่ยวนำให้เกิดเห็ดในธรรมชาติ โดยระบุว่า นอกจากเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวแล้วยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์อย่างต้นยางนา ป่าเต็งรัง ตลอดจนป่าชุมชนในหมู่บ้านไม่ให้ถูกทำลายอีกด้วย เพราะเห็ดเหล่านี้จะนำมาเพาะเชื้อและขยายพันธุ์เหมือนเห็ดเศรษฐกิจ อย่างเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า นางรมหรือขอนขาวไม่ได้ จะต้องเพาะและขยายพันธุ์ในป่าธรรมชาติเท่านั้น

              “เห็ดที่เกิดจากการเหนี่ยวนำในธรรมชาติ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่าและเห็ดตีนแรด เห๋็ดพวกนี้จะนำมาเพาะเชื้อเองในโรงเรือนไม่ได้ ต้องเพาะในป่าธรรมชาติเท่านั้น จึงจะงอกงามดีแล้วก็จะเหมาะกับต้นไม้บางชนิดเท่านั้น อย่างเช่นเห็ดเผาะจะขึ้นได้ดีกับต้นยางนา วิธีการก็คือนำสปอร์ของมันมาละลายน้ำแล้วรดไปที่รากของยางนาแล้วเห็ดก็จะงอกตลอดไป 20-30 ปี ตราบจนกว่าต้นยางนายังอยู่นั่นแหละ แล้วก็จะช่วยไม่ให้ต้นยางนาสูญพันธุ์ด้วย โดยธรรมชาติแล้วเห็ดเผาะจะขึ้นได้ดีใต้ต้นยางนา เต็งรังก็ได้ ผมเห็นว่ายางนากำลังจะสูญพันธ์ ก็อนุรักษ์ ก็เลยจับเห็ดเผาะเข้ามา ถ้าเราจะปลูกยางนาให้อุดมสมบูรณ์ก็จะต้องมีเห็ดเผาะเข้ามาด้วยช่วยในการปลูก เพราะตัวเห็ดเผาะมันไปเจริญเติบโตได้ดีอยู่ที่ราก เมื่อเพาะเห็ดเผาะในป่าชุมชนก็จะได้ทั้งเห็ดทั้งป่ากลับคืนมา” นักวิชาการด้านเห็ดเผยข้อมูลทิ้งท้าย

           นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของการนำองค์ความรู้ด้านเห็ดสู่ชุมชน อันเป็นผลมาจากงานวิจัยในพื้นที่ ต.หนองเรือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น นอกจากช่วยในการสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่คนในชุมชนแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าชุมชนที่เป็นผลมาจากการเพาะเห็ดในธรรมชาติอีกด้วย

                                                                                                                  ........................................................

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ