ข่าว

“กล้วยไม้” กับความรักไร้พรมแดน ตอน8

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - ส.ระพี สาคริก

 

ต่อจากเสาร์ที่แล้ว

เราโชคดีที่ได้พบกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติที่มีทางพฤกษศาสตร์ว่า Encyclia tampanse ซึ่งขึ้นอยู่ตามกิ่งก้านอย่างน่าสนใจ ชื่อของ Encyclia tampanse มันทำให้ฉันสันนิษฐานว่ากล้วยไม้ป่าชนิดนี้คงได้ชื่อมาจากเมืองแทมปา (Tampa) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมอ่าวเม็กซิโกและอยู่ในเส้นทางที่เราจะไปเยี่ยมครั้งนี้ด้วย

ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจควรจะกล่าวถึงอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นสวนสาธารณะอิงพฤกษศาสตร์ ซึ่งจัดการทำขึ้นมาโดยเอกชน และเจ้าของสวนแห่งนี้เป็นพี่น้องคู่หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในวงการกล้วยไม้ของสหรัฐอเมริกาด้วย คนพี่มีชื่อว่า Jean Merkel ส่วนคนน้องชื่อ Robert Merkel ทั้งคู่เป็นผู้ชาย และแน่นอนที่สุดพี่น้องคู่นี้รู้จักชื่อเสียงของฉันดีมาแล้ว เราจึงได้รับการต้อนรับในฐานะบุคคลสำคัญที่มาเยี่ยมสวนเขา

ฉันขออนุญาตอธิบายรายละเอียดภายในบรรยากาศของสวนนี้สักเล็กน้อยกฎระเบียบของสวนเขาไม่ยอมให้ยานพาหนะเข้าไปแล่นเพ่นพ่านโดยเด็ดขาด ถ้าเราเดินทางเข้าไปในสวนแล้ว จุดเด่นอย่างหนึ่งก็คือมีกล้วยไม้กอใหญ่ๆ ออกดอกอยู่ตามกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่โดยทั่วๆ ไป

นอกจากนั้นถ้าเราเดินลึกเข้าไปเป็นช่วงๆ ตามมุมต่างๆ ของสวนจะมีสาวชวนเม็กซิกันแต่งตัวแบบสาวงามโบราณตามประเพณีดั้งเดิมนั่งบ้างยืนบ้างอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้คนถ่ายรูปหรือใครอยากจะเข้าไปถ่ายรูปกับสาวๆ เหล่านี้ก็ยังได้ บทบาทสำคัญที่มีต่อเมืองไทย ซึ่งแฝงอยู่ไหนเรื่องราวของสวนนี้ คงไม่ทำให้ฉันมองข้ามที่จะกล่าวถึงไปได้

เนื่องจากในปี 2515 เป็นปีที่เราเดินทางไปเชิญงานกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 และมีกำหนดมาจัดที่ประเทศไทยในปี 2521  ซึ่งในปี 2515 ดังกล่าว ประเทศโคลอมเบีย อเมริกาใต้ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 7 ที่เมือง Medilene (เมดิยีน-อ่านตามสำเนียงภาษาสเปน) ในช่วงนั้น Jean Merkel พี่ชายใหญ่อยู่ในตำแหน่งนายกสมาคมกล้วยไม้อเมริกัน American Orchid Society (AOS) และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคัดเลือกประเทศด้วย

เย็นวันนั้นหลังจากกรรมการชุดนี้ได้ประชุมเสร็จแล้ว ภรรยาของ Jean เดินสวนทางกันกับฉันที่ประตูห้องแห่งหนึ่งของโรงแรม เธอยื่นหน้ามากระซิบที่ข้างหูฉันว่า “I know a good news” ฉันรู้ทันทีว่าประเทศไทยได้รับอนุมัติให้เป็นเจ้าภาพรับงานประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 เรียบร้อยแล้ว แต่เปล่าเลย แทนที่ฉันจะตื่นเต้นแสดงความดีใจและขอบคุณเขา ฉันกลับเดินผ่านไปเฉยๆ นอกจากยิ้มรับด้วยมารยาทจากแววตาที่สื่อถึงกันเท่านั้น นี่คือมารยาทที่ดีในการวางตนของผู้นำทำให้คนทั่วไปเคารพรักและศรัทธา ซึ่งเกิดจากบุคลิกภาพอย่างสำคัญ

ความจริงฉันเล่าเลยมานอกเรื่องนิดหน่อยในขณะที่เรื่องราวมันยังไม่ถึงตรงนั้น แต่บังเอิญมีบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสวนดังกล่าวเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับการจัดประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 9 ของไทยอยู่ตรงนั้นด้วย

ฉันคิดว่าถ้าจะเล่าเรื่องราวเลยต่อไปอีกมันคงมีมากมาย แต่ในความทรงจำของฉันมันก็ยังบรรจุอยู่ในหัวจนกระทั่งล้นไม่รู้จะล้นยังไงอยู่แล้ว เรามากล่าวกันถึงเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กันดีกว่าวันนั้นชีแฮนขับรถพาฉันผ่านเข้าไปในเมือง ฉันมองผ่านกระจกหน้ารถออกไปข้างนอก และเห็นต้นสแปนิชมอส (Spanish moss) ซึ่งปกติมันขึ้นรกรุงรังอยู่ตามต้นไม้ภายในเมืองถูกหางๆ ของลมสลาตันตีตกลงมาจากต้นไม้เกลื่อนถนนไปหมด

ฉันได้ยินชีแฮนปรารภว่า “ความจริงแล้วมีลมสลาตันมันก็ดีไปอย่างหนึ่ง เพราะช่วยทำความสะอาดต้นไม้ ซึ่งเคยถูกมอส จำพวกนี้ขึ้นปกคลุมรกรุงรังให้ได้รับความสะอาดกันเสียที"

                                               ********************************

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ